10 พฤศจิกายน 2566 : ประกันชีวิตเป็นทางเลือกในการใช้สิทธิลดหย่อนที่ผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาใช้ในการวางแผนภาษีในแต่ละปี เฉพาะเบี้ยประกันชีวิตสำหรับตัวผู้เสียภาษีสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 100,000 บาท ไม่รวมกับเบี้ยประกันบำนาญและเบี้ยประกันสุขภาพของพ่อแม่ การใช้สิทธิลดหย่อนไม่ต้องคำนวณตามสัดส่วนของรายได้ของเราจึงลดหย่อนได้เต็มที่ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินอย่างไร การวางแผนภาษีด้วยประกันชีวิตจึงสามารถช่วยลดภาระภาษีตามขั้นภาษีสูงสุดที่คำนวณได้ หรือสูงสุดถึง 35,000 บาททีเดียว
ประกันชีวิตที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ประกอบด้วยแบบประกันที่มีระยะเวลาความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ประกันสุขภาพ แต่คนส่วนใหญ่มักเลือกทำแบบประกันโดยคำนวณถึงการลดหย่อนภาษีเป็นหลัก จึงเลือกแบบประกันระยะเวลาต่ำสุดตามหลักเกณฑ์ คือความคุ้มครอง 10 ปี เราสามารถเลือกวางแผนลดหย่อนภาษีให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของเราควบคู่ไป เพื่อให้เราสามารถบรรลุตามเป้าหมายการเงินโดยไม่มีภาระการชำระเบี้ยเกินจำเป็น ที่สำคัญเป็นการวางแผนการเงินระยะยาวให้กับตัวเราอีกด้วย ซึ่งจริง ๆ เป็นวัตถุประสงค์หลักที่รัฐมอบสิทธิประโยชน์ภาษีให้กับผู้เสียภาษี
การทำประกันชีวิตเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเงินของเรา ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่เราหาเป้าหมายการเงินระยะยาวของเราให้ได้ หลายคนมีเพียงเป้าหมายเดียว แต่บางคนมีหลายเป้าหมายก็ได้ การวางแผนเพื่อการเกษียณเป็นเป้าหมายสำคัญเป้าหมายหนึ่งเพราะการที่คนมีอายุยืนยาวขึ้น จำเป็นต้องใช้เงินช่วงเกษียณมากขึ้น
หากปัจจุบันเรามีอายุ 35 ปี การวางแผนเพื่อการเกษียณจะมีระยะเวลาประมาณ 25 ปี เราสามารถเลือกแบบประกันสะสมทรัพย์เพื่อเสริมแผนการเกษียณของเราและได้ประโยชน์จากการลดหย่อนในหมวดประกัน ตัวอย่างเช่น คุณ บี ปัจจุบัน อายุ 50 ปี มีประกันสุขภาพในปัจจุบันเบี้ยฯ ปีละ 15,000 บาท สามารถวางแผนภาษีเพื่อการเกษียณเพิ่มเติมโดยใช้ประกันสะสมทรัพย์ ระยะเวลา 10 ปี ชำระเบี้ยฯ ครั้งเดียว ผลประโยชน์รวม 99,880 บาท เบี้ยฯ ปีละ 85,000 บาท เพื่อรับเงินก้อนหลังเกษียณปีละ 100,000 บาท
เป้าหมายการเงินอีกเป้าหมายหนึ่งคือเป้าหมายการศึกษาของลูก เราสามารถวางแผนครอบครัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาของลูกในระยะยาว หากลูกกำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาล แผนการศึกษาของลูกจะมีระยะเวลา 12 ปีโดยประมาณสำหรับระดับปริญญาตรี และ 16 ปี สำหรับระดับปริญญาโท การเลือกทำประกันสะสมทรัพย์เพื่อลดหย่อนภาษีจึงไม่จำเป็นต้องเป็นแบบประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี แต่อาจเลือกทำประกันในหลายรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับเป้าหมายของเรา
ตัวอย่างเช่น คุณใส่ใจ ปัจจุบันอายุ 35 ปี มีลูกอายุ 5 ปี ต้องการเลือกทำประกันเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเต็ม 100,000 บาท ประกันสุขภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันเบี้ยฯ ปีละ 15,000 บาท ต้องการใช้ประกันเพื่อเป็นเงินทุนการศึกษาปริญญาโทให้ลูก 2 ล้านบาท แบบประกันเพื่อใช้สิทธิฯ ภาษีของคุณใส่ใจจะต่างกับของคุณบี โดยแผนภาษีจากประกันสะสมทรัพย์ ระยะเวลา 10 ปี ชำระเบี้ยครั้งเดียว แม้จะใช้สิทธิภาษีได้เท่ากัน แต่ไม่สามารถตอบเป้าหมายเพื่อการศึกษาของลูกได้
การวางแผนการศึกษาให้ลูกจะมีภาระชำระเบี้ยเพิ่มขึ้นและไม่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ คุณใส่ใจจึงควรเลือกแบบประกันสะสมทรัพย์เพื่อทุนการศึกษาปริญญาโท ระยะเวลาคุ้มครอง 15 ปี ระยะเวลาชำระเบี้ยฯ 10 ปี ผลประโยชน์รวมตลอดสัญญา 977,500 บาท จำนวนเงินประกันภัย 700,000 บาท เบี้ยฯ ปีละ 85,000 บาท แทน รูปแบบเป้าหมายที่สามารถนำมาประกอบการวางแผนภาษี สิ่งที่ต้องคำนึงถึง และรูปแบบของประกันชีวิตที่ตอบเป้าหมายต่างๆ อาจจะสรุปได้คร่าวๆ ตามตาราง ดังนี้
เมื่อเราจะวางแผนภาษีด้วยประกันทั้งที เราจึงควรวางแผนภาษีให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายการเงินของเราด้วย เพื่อให้เราได้มากกว่าการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว เพียงเท่านี้เราก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีประจำปี
หมายเหตุ
· การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
· โปรดทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองเงื่อนไข และข้อยกเว้นก่อนการตัดสินใจสมัครทำประกันภัยทุกครั้ง