WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
“หุ้นเวียดนาม”ของมันต้องมี!!!

31 ตุลาคม 2566 : หลายคนคงได้ยินข่าวกันมาบ้างแล้วว่า ตลาดหุ้นเวียดนามกำลังยกระดับเป็น “ตลาดเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market :EM)” จากคำกล่าวของ Ms.Vu Thi Chan Phuong ประธานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์เวียดนาม ที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน International Organization of Securities Commissions (IOSCO) จัดการประชุมประจำปีครั้งที่ 48 ที่ประเทศไทย ว่า ตลาดหุ้นเวียดนามมีพัฒนาการที่น่าประทับใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สภาพคล่องดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นช่องทางการระดมเงินทุนระยะกลางและระยะยาวที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจและธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทั่วไป ดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นเวียดนามได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าเชื่อถือสำหรับนักลงทุนจำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่เพียงแต่เพิ่มทุนผ่านตลาดหุ้นได้สะดวกมากขึ้นเท่านั้น ธุรกิจของเวียดนามมีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นในด้านธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนธุรกิจและพัฒนาตลาดหุ้นในทิศทางของคุณภาพและความยั่งยืนต่อไป เวียดนามมุ่งมั่นที่จะยกระดับตลาดเป็นตลาดเกิดใหม่ Emerging Market

หากกล่าวถึงการลงทุนในตลาดเวียดนาม ก่อนช่วงเกิดโควิดประมาณ 2-3 ปี ตลาดหุ้นเวียนามและภาพรวมเศรษฐกิจ และปัจจัยบวกต่างๆ ทำให้เวียดนามบูมแล้วบูมอีก นักลงทุนไทยที่ไม่ได้เป็นกลุ่มมั่งคั่งไม่สามารถลงทุนโดยตรงในหุ้นเวียดนามได้ กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นเวียดนาม คือ ทางเลือกที่ดีและสามารถได้รับผลตอบแทนกลับมาอย่างเป็นกอบเป็นกำ จากจุดที่พีคสูงสุดก็ปรับตัวลงมาเช่นเดียวกับตลาดหุ้นจีน แต่ในวันนี้ภาพรวมของเวียดนามกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนหันมาเชียร์ลงทุนในการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดหุ้นเวียดนาม และจากประเด็นการอัพเกรดเป็นตลาดเกิดใหม่ ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2567 และจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2568 ยิ่งทำให้เวียดนามเนื้อหอมมากขึ้น

หากกลุ่มประเทศเกิดใหม่คืออะไร นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร ได้แชร์ว่า Emerging Market หรือ EM คือ ระบบเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ ก่อนหน้าเรียกว่า ตลาดกำลังพัฒนา กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ นั้น ถูกนักวิเคราะห์และนักลงทุนแบ่งออกตามภูมิภาค 3 โซนด้วยกัน ได้แก่

1.ประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ จีน อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และปากีสถาน 2.ประเทศแถบละตินอเมริกา ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลัมเบีย เม็กซิโก เปรู และเวนาซูเอลา 3.ประเทศแถบยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง ได้แก่ สาธารณรัฐเชก ฮังการี โปแลนด์ รัสเซีย อิสราเอล จอร์แดน โมร็อคโค อียิปต์ แอฟริกาใต้ และตุรกี ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหมดที่กล่าวมา มีประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ และถูกจับตาว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกอยู่ 4 ประเทศด้วยกัน นั้นคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน โดยใช้ชื่อย่อว่า BRIC นั้นเอง

จุดเด่นของการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ คือ ประเทศเหล่านี้ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ที่สูงกว่าตลาดพัฒนาแล้ว เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกา (ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ) จะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 2% - 3% ต่อปี ส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรปอยู่ในระดับต่ำมานานมาก แต่ในประเทศเกิดใหม่ จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3% เพราะในประเทศเกิดใหม่มีจำนวนประชากรที่มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีประชากรในวัยทำงานที่สูงกว่า มีความต้องการซื้อ ความต้องการสร้างฐานะ ทำให้สามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า

ขณะที่ ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด (Jitta) กล่าวถึงการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามว่า ช่วงที่ราคาหุ้นเวียดนามปรับลดลง เป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนทะยอยสะสม เพื่อสร้างผลกำไรเติบโตในอนาคต และยังช่วยให้ลงทุนได้หลายบริษัท รวมถึงกระจายความเสี่ยงและลดความผันผวนของพอร์ตไปในตัวด้วย เนื่องจาก มองว่า ตลาดหุ้นเวียดนามระยะยาวยังน่าสนใจมาก โดยเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่าในไตรมาส 3/2565 สามารถเติบโตถึง 13.7% และช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ สามารถขยายตัวได้ถึง 8.83%

นอกจากนี้ OECD หรือ Organization for Economic Cooperation and Development ได้คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามปี2566 และ ปี 2567 มีโอกาสขยายตัวได้เกิน 6% ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการลงทุนจากต่างประเทศ หลังบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกมีการกระจายความเสี่ยงในด้านห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่ Mathias Cormann เลขาธิการทั่วไปของ OECD ระบุว่า เวียดนามจะเป็นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถหลีกพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยได้ นอกจาก OECD ได้คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามจะโตอย่างโดดเด่นแล้ว

ก่อนหน้านี้ ยังมีสถาบันระดับโลกอย่าง IMF และธนาคารโลกก็ได้คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามเช่นกัน ต่างมองว่าเศรษฐหิจเวียดนามมีโอกาสโตเกิน 6% ได้ รวมไปถึง สถาบันจัดอันดับเครดิตอย่าง Moody’s ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้เวียดนามขึ้น ด้วยเหตุนี้เวียดนามจึงมีโอกาสถูกจัดอันดับจากประเทศชายขอบ (frontier market) ขึ้นไปเป็นประเทศเกิดใหม่ (emerging market) ในอนาคต เข้าเกณฑ์การลงทุนของกองทุนนานาชาติ ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นเวียดนามมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวขึ้น-ลงอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP