20 ตุลาคม 2566 : ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ประกาศเปิดตัวโครงการ ‘ตังค์โต 21 วัน จด ลด หนี้’ มุ่งเพิ่มทักษะทางการเงินให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เน้นการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างชาญฉลาด ตัดสินใจได้อย่างดียิ่งขึ้น และอุด “รอยรั่ว” ทางการเงิน
รวมทั้งยังสามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้สินได้ในระยะยาว มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น สร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่ชุมชน และช่วยบรรเทาสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยซึ่งนำไปสู่เสถียรภาพ และความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยโค้ชซึ่งมีประสบการณ์ด้านวางแผนและจัดการจากทีมตังค์โต Know-how จะสอนเทคนิคด้านการเงินแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ แบบรายบุคคลฟรี! เช่น การวางแผนการเงินให้มีประสิทธิภาพช่วยให้ปลดหนี้ได้อย่างรวดเร็ว วิธีการออมแบบง่ายๆ คนเก็บเงินไม่เก่งก็สามารถทำได้ การลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
โดยชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่ที่ดีและความอยู่รอด (need) และสิ่งที่เราอยากได้แต่ไม่จำเป็น (want) เพื่อทำให้รู้จักการใช้จ่ายอย่างเหมาะสมตามความจำเป็น ฝึกทักษะทางการเงินที่จำเป็นตลอด 21 วันของโครงการ เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
ผลสำรวจสถานะและพฤติกรรมทางการเงินของประชาชนล่าสุดโดยธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เผยว่าผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 74 มีภาระหนี้สิน โดยกว่าร้อยละ 45 เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 43 เป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย ร้อยละ 39 เป็นหนี้บัตรเครดิต
การสำรวจทางอิเล็กทรอนิกส์จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 1-28 มิถุนายน 2566 เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และสถานะทางการเงินในช่วงวิกฤตเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพ ผลกระทบต่อเงินในกระเป๋า รายจ่ายและการชำระหนี้ ตลอดจนพฤติกรรมและนิสัยทางการเงินและวิธีรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 370 คน อายุระหว่าง 18-65 ปี
ในด้านค่าใช้จ่ายในช่วงครึ่งปีแรก ผลสำรวจระบุว่ากว่าร้อยละ 63 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยรายจ่ายที่สร้างผลกระทบมากที่สุด คือ ค่าอาหารหรือค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (ร้อยละ 71) รองลงมาคือ ค่าไฟฟ้าครัวเรือน (ร้อยละ 55) ค่าน้ำมันหรือค่าเดินทาง (ร้อยละ 52) นอกจากนี้ยังมีค่าผ่อนบ้าน (ร้อยละ 18) และค่าผ่อนรถ (ร้อยละ 17) ตามลำดับ
ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 71 ยอมรับว่าประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในบางครั้งในช่วงวิกฤตเงินเฟ้อซึ่งส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น
ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ “ตังค์โต 21 วัน จด ลด หนี้” ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการเงินพื้นฐานโครงการ “ตังค์โต Know-How” และทำแบบประเมินสุขภาพทางการเงินเบื้องต้นซึ่งเป็นเครื่องมือในการสำรวจพฤติกรรมและนิสัยทางการเงิน พร้อมรับข้อเสนอแนะและแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางการเงินของแต่ละบุคคล
โครงการ “ตังค์โต 21 วัน จด ลด หนี้” เน้นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง (activity based learning) เพื่อปลูกนิสัยและสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี โดยต้องจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายของตนเองอย่างละเอียดต่อเนื่อง 21 วัน เพื่อให้ทีมงานตังค์โต วิเคราะห์ ประเมินพฤติกรรมการใช้จ่าย พร้อมให้คำแนะนำแบบเฉพาะบุคคล ที่สามารถปฏิบัติตามได้ง่าย ได้ผลจริง เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
“เราเชื่อว่าการเขียนบันทึกรายรับ-รายจ่ายเป็นประจำทุกวันอย่างต่อเนื่อง 21 วัน หากผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถทำได้จะกลายเป็นนิสัย และช่วยสร้างวินัยทางการเงินที่ดีและทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น” นายรอยย์กล่าว เขากล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการ “ตังค์โต 21 วัน จด ลด หนี้” มุ่งเสริมสร้างทักษะการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสู่ความสำเร็จและความมั่นคงทางด้านการเงิน
ทั้งยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทำให้สามารถดูแลตนเองได้ อยู่รอดในทุกวิกฤตถึงแม้ต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสภาวะหนี้สินครัวเรือนของไทยในระดับสูงซึ่งเกิดจากพฤติกรรมและนิสัยทางการเงินที่ไม่ดีของคนไทย นั่นคือ “เป็นหนี้สูง เป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้นาน” และส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
ทุกคนสามารถมีหนี้ได้ หากมีการวางแผนและการบริหารจัดการหนี้ที่ดี สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและจ่ายชำระได้ตามระยะเวลาที่กำหนด หนี้ที่มีคุณภาพ (productive debt) คือหนี้ที่ช่วยสร้างรายได้ทำให้ธุรกิจเติบโต สร้างกำไรเพิ่มขึ้นซึ่งถือว่าเป็นหนี้ที่ดี แต่หนี้ที่กู้ยืมเพื่อการบริโภค (consumptive debt) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมและนิสัยที่ไม่ดีทางการเงิน ส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งยังไม่สามารถสร้างรายได้
“เมื่อคุณมีภาระหนี้สินและสามารถจ่ายชำระได้ตรงตามกำหนดเป็นการสร้างเครดิตทางการเงิน และสะท้อนให้เห็นว่าคุณมีการวางแผนและความรับผิดชอบทางการเงินที่ดี การมีความรู้และทักษะการเงินเป็นสิ่งจำเป็นเพราะสามารถช่วยให้คุณบริหารจัดการหนี้ของคุณได้”ผลการสำรวจพฤติกรรมการชำระหนี้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 86 ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ร้อยละ 14 ผิดนัดชำระหนี้อย่างน้อย 1 เดือน โดยสาเหตุหลักของการผิดนัดชำระหนี้ ได้แก่ รายได้ไม่มีเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 79) ภาระค่าใช้จ่ายสูงภายในครอบครัว (ร้อยละ 50) ค่าครองชีพสูง (ร้อยละ 47) และมีภาระหนี้สินมาก ทำให้หมุนเงินไม่ทัน (ร้อยละ 45)
โครงการ “ตังค์โต 21 วัน จด ลด หนี้” เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ “ตังค์โต Know-How” ซึ่งมุ่งส่งเสริมความรู้และทักษะด้านการเงิน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนไทย ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา มีการจัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่ ผู้ประกอบการรายย่อย ประชาชน และเยาวชน รวมทั้งสิ้นกว่า 150,000 คน นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมหลัก ภายใต้โครงการ EMpower for Community
โดยเน้นเสริมพลังชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกชุมชนอย่างยั่งยืน และสร้างวินัยทางการเงินสู่ความสำเร็จและความมั่นคงซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) “Everyone Matters” ทุกคนคือคนสำคัญ
เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมโครงการ ตังค์โต 21 วัน จด ลด หนี้
พรอุษา บุญเลิศ “การจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายทำให้ดิฉันใช้เงินอย่างมีสติมากขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายลง มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น ทำให้คิดอย่างรอบคอบมากขึ้นก่อนจะตัดสินใจซื้อสิ่งที่อยากได้และหลีกเลี่ยงใช้เงินซื้อของที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต”
เพ็ญศรี อาจนารี “การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายทำให้รู้ถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของเรา รู้ที่มาที่ไปของเงิน บ่อยครั้งคิดไม่ออกว่าเงินหายไปไหน และทำให้เรารู้ทุกความเคลื่อนไหวทางการเงิน ใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ต้องหาเงินเพิ่มเท่าไหร่จึงจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน และจะออมเงินเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ดิฉันกำลังมองหาอาชีพเสริมเพราะอยากมีเงินเก็บมากขึ้น”
ประตินันท์ บุญเรืองยศศิริ “การจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายช่วยวางแผนอนาคตและสร้างนิสัยทางการเงินที่ดี ตั้งงบรายจ่ายและจัดการกับรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ทำให้คิดอย่างรอบคอบก่อนใช้จ่ายและมีความรับผิดชอบทางการเงินมากขึ้น ดิฉันลงบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน มันเปลี่ยนชีวิตได้จริง ๆ จากชีวิตที่ติดลบก็เริ่มเก็บเงินได้ และมีเงินออมเพิ่มขึ้น”