20 ตุลาคม 2566 : นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น และในช่วงไฮซีซันยังได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายฟรีวีซ่าของภาครัฐ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 2.5 เท่าตัว ซึ่งส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือน
ขณะที่ภาคการส่งออกและการลงทุนของภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนการลงทุนภาครัฐในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมอาจได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในกระบวนการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567
ทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ยังเผชิญกับความท้าทายจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพิ่มความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน และผลักดันให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ขณะที่ในประเทศมีความท้าทายจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจกระทบผลผลิตและรายได้ในภาคเกษตร และภาคครัวเรือนที่ยังมีภาระหนี้สูง
ธนาคารกรุงไทยจึงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง และบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด โดยรักษาระดับของ Coverage Ratio ในระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มให้สามารถปรับตัวรองรับกับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2566 เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 10,282 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องร้อยละ 23.1 ทั้งจากการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ทั้งสินเชื่อรายย่อยและ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่
นอกจากนี้ สินเชื่อภาครัฐเติบโตร้อยละ 5.5 จากสิ้นปีที่ผ่านมา เฉพาะไตรมาส 3 เติบโตร้อยละ 7.7 จากไตรมาสที่ผ่านมา ช่วยรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk and Return) สนับสนุนให้พอร์ตสินเชื่อมีความแข็งแกร่งขึ้น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลให้สินเชื่อรวมเติบโต 1.4% จากสิ้นปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษจากลูกค้ารายใหญ่ รวมถึงการขยายตัวของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย
โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตและยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income Ratio เท่ากับร้อยละ 43.0 ลดลง จากร้อยละ 45.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.0 โดยพิจารณาถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน และยังคงรักษา Coverage Ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 180.4 พร้อมทั้งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio) ร้อยละ 3.10 ลดลงจากสิ้นปี 2565
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2566 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.2 รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวได้ดี ร้อยละ 8.9 พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี Cost to Income Ratio เท่ากับร้อยละ 43.0
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนของปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 30,505 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องร้อยละ 21.1 จากการเติบโตของสินเชื่อตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ทั้งสินเชื่อรายย่อยและ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และการขยาย สินเชื่อภาครัฐเพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk and Return) ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน
ส่งผลให้สินเชื่อไม่รวมภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษจากลูกค้ารายใหญ่ รวมถึงการขยายตัวของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ธนาคารให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตและยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่งผลให้ Cost to Income Ratio เท่ากับร้อยละ 40.4 ลดลงจากร้อยละ 43.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9 เพื่อรักษาระดับของ Coverage Ratio ในระดับสูงเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ
ณ 30 กันยายน 2566 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 17.28 และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น ร้อยละ 20.47 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท. รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด