WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
สุดว้าวุ่น!!!กับภาษีลงทุนนอก

27 กันยายน 2566 : หลังจากได้รัฐบาลใหม่ ก็มีเรื่องร้อนๆ เข้ามาให้ตกใจอยู่เนืองๆ ไม่ใช่จีดีพีพุ่งปรอทแตก… แต่กลายเป็นเรื่องแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่รับปากไว้ช่วงหาเสียง โดยเฉพาะแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ที่ใช้เงินซัพพอทในส่วนนี้สูงถึง 5.6 แสนล้านบาท สิ่งที่หลายคนมองในตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องจ่ายเงินผ่านช่องทางไหน… แต่หาเงินจากช่องทางไหนก่อน…เพราะเวลานี้หนี้สาธารณะของไทยก็สูงใกล้เพดานที่ 70% ของจีดีพีแล้ว

ไหนจะมีเรื่องเอาเงินมาอุดหนุนค่าไฟค่าน้ำ เพื่อลดภาระให้ประชาชนช่วงราคาพลังงานพุ่งอีก สุดท้ายก็มาตกอยู่ที่เงินภาษีประชาชน! และเป็นที่น่าคิดว่า คนทำงานหรือมีรายได้ที่ต้องเสียภาษีกับต้องแบกรับคนที่เลี่ยงภาษีหรือคนที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่ใดๆ นั้นท้ายสุด คือ หน้าที่ของประชาชนทุกคนที่มีรายได้ต้องจ่ายภาษี เราเลยต้องจ่ายภาษีเพื่อสนับสนุนรัฐโดยไม่เกี่ยงงอน

แต่ต้องมาฉุกคิดในประเด็นล่าสุด..เมื่อ กรมสรรพากร ได้ลงนามในคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 41 ซึ่งคำสั่งนี้ เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ในการตรวจและแนะนำผู้อยู่ในประเทศไทยที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปี ภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่การงานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 ในปี ภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปี ภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้น มารวมคำนวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้ ในปี ภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาประเทศไทย โดยจะเริ่มใช้บังคับกับเงินได้พึงประเมินที่นำเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

คำสั่งนี้ ถือเป็นการกำหนดแนวทางปฏิบัติใหม่ โดยให้ผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศและอาศัยอยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป หากนำเงินเข้าไทยปีไหน ก็ต้องนำมารวมคำนวณ ภาษีเงินได้ในปีนั้น จากก่อนหน้านี้ที่อาจมีการตีความประมวลรัษฎากร มาตรา 40 ไปในทางที่ว่า ถ้ามีรายได้จากต่างประเทศ และนำเงินส่วนนี้เข้าไทยในปีถัดไป ก็จะไม่ต้องเสียภาษี เพราะขาดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งไป สำหรับรายได้จากต่างประเทศ หมายถึง 1.รายได้ที่เกิดจากการทำงานในต่างประเทศ 2.รายได้จากการทำธุรกิจในต่างประเทศ 3.ค่าลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ 4. กำไรจากการขายสินทรัพย์ในต่างประเทศ

ดังนั้นหมายความว่า ต่อไปนี้ ใครที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งหุ้นโดยตรงหรือซื้อทรัพย์ เมื่อมีกำไรแล้วนำเงินเข้าปีประเทศต้องเสียภาษี เพื่อสร้างความเท่าเทียม และจากการที่กรมสรรพากร โยนหินก้อนใหญ่ถามทางมาแบบนี้ แน่นอนนักลงทุนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังเป็นมือใหม่หัดลงทุนโดยตรงในหุ้นต่างประเทศ ถึงกับตกใจ รวมไปถึงนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ถึงกับ "เอ๊ะยังไง"

เมื่อสอบถามไปมา สุดท้ายนักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศไม่ต้องเสียภาษี ส่วนนักลงทุนที่ลงทุนโดยตรงในหุ้นหรือสินทรัพย์ในต่างประเทศ หากได้กำไรแล้วนำเงินกลับเข้ามาในประเทศก็ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามีการเลี่ยงภาษีทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นจึงเป็นที่มาของกฎหมายนี้

งานนี้อาจจะกระทบนักลงทุนกลุ่มมั่งคั่งหนักหน่อย แต่นักลงทุนตัวน้อยที่ลงทุนโดยตรงในหุ้นต่างประเทศ ที่ลงทุนเพียงเงินหลักไม่กี่ร้อยบาท ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะยังไงต่อไป เพราะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการนี้ แต่ที่แน่ๆ นักลงทุนตัวน้อยตกใจไปแล้ว เมื่อคำนวนเงินที่ลงทุนไป หากเจอภาษีก็แทบตะไม่เหลืออะไรเลย เนื่องจาก การลงทุนในแต่ละครั้งมีค่าฟีจากการซื้อ-หลักทรัพย์ที 0.15% ที่มาพร้อมกับจะมีค่าฟีแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเจ้าไปอีก ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงพอสมควร

ดังนั้น นักลงทุนกลุ่มนี้ก็อยากให้มีความชัดเจนเรื่องภาษีฯ เพราะการลงทุนในต่างประเทศไม่ใช่แค่คนรวยจะลงทุนได้เพียงกลุ่มเดียวเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้นักลงทุนรายย่อยระดับล่างมากๆก็สามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรงได้แล้วเช่นกัน

ขณะที่ นายกัมพล จันทรวิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด (KKP Dime) กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องมีความยุติธรรมและมีความสมเหตุสมผล ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบในภาพรวม และเสนอให้ศึกษาแนวทางการเก็บภาษีจากต่างประเทศว่าที่อื่นทำอย่างไร เชื่อว่านักลงทุนไทยสามารถยอมรับได้ ซึ่งยังต้องติดตามความชัดเจน พร้อมฝาก 3 คำถามสำหรับของแนวทางการเก็บภาษี ว่าจะเก็บเท่าไร เก็บอย่างไร และเก็บเมื่อไร

ขณะเดียวกัน ผู้ลงทุนต้องเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการลงทุน ระหว่างหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ ซึ่งมีข้อดีที่แตกต่างกัน โดยมองว่าการเก็บภาษีจะกระทบต่อต้นทุนของลูกค้าที่เป็นนักลงทุนรายย่อยให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสในการลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นต่างประเทศ มองว่า การเก็บภาษีดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนรายย่อยชะลอการลงทุนหุ้นต่างประเทศ แต่เชื่อว่าจะกระทบนักลงทุนรายใหญ่ไม่มาก เนื่องจากส่วนมากแบ่งเงินลงทุนเป็นหลายก้อน และไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเงินกลับประเทศบ่อย

ทางด้านนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ว่า ภาระการคลังอาจมีเยอะขึ้น หลังจากที่ประกาศแนวทางภาษีฯนี้ออกมา แต่ยังไม่มีรายระเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดเก็บนี้ มองว่าเพื่อต้องการเพิ่มรายได้ แต่ไม่น่าจะใช้เพื่อป้องกันค่าเงิน เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ได้มองขนาดนั้น ไม่น่าใช่วัตถุประสงค์หลักในตรงนี้ แต่น่าจะเป็นการเพิ่มรายได้และความยุติธรรมในการหารายได้ในต่างประเทศ แล้วไม่ได้นำกลับเข้ามามากกว่า ก็ได้ส่งเแรงกระเพื่อมยังกลุ่มไพรเวสค่อนข้างเยอะ ทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะไม่นำเงินกลับเข้าประเทศ


ดังนั้น รัฐบาลคงต้องซาวเสียงดูว่า และอยากให้มองหลายด้าน โดยเฉพาะการสร้างความบาลานกับโฟลว์ต่างประเทศเพื่อไม่ให้ค่าเงินเหวี่ยงเกินไป ที่ผ่านมาค่าเงินบาทอิงกับโฟลว์ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ในการเข้าออกตลาดทุนไทย การเก็บภาษีลงทุนต่างประเทศ ทำให้นักลงทุนตัดสินใจไม่นำเงินกลับเข้าประเทศ ทำให้เสียสมดุลของโฟลว์ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของธนาคารแห่งประเทศไทยในการสร้างความสมดุล สุดท้ายแล้วยังต้องดูรายละเอียดของมาตรการนี้ก่อน จึงจะประเมินผลกระทบที่ชัดเจนได้

"มารตรการดังกล่าวมาไม่ได้มาใช้ในการคุมค่าเงิน เนื่องจาก การไหลเข้าของเงินลงทุนต่างชาติขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจของไทยเป็นหลัก ส่วนภาพรวมค่าเงินบาทช่วงที่เหลือของปีนี้ให้อ่อนค่าน้อยลง คือ น้ำมัน หากปรับตัวลดลงมาก็ช่วยชดเชยการขาดลของกองทุนน้ำมันน้อยลง และการกลับมาของนักท่องเที่ยวผ่านมาตราการกระตุ้น รวมถึงดึงนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยได้ ทำให้ค่าเงินกับมาแข็งค่าขึ้นได้ ดังนั้น ทิศทางค่าเงินขึ้นอยู่กับ Out Look ของเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก หากสามารถดึงเงินเข้าประเทศได้ ก็ช่วยให้ค่าเงินกลับมาแข็งได้" นายบุรินทร์ กล่าว

ทางนายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ในฐานะแพลตฟอร์มการวิเคราะห์หุ้นทั่วโลก เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีคำสั่งของกรมสรรพากรที่กำหนดให้ผู้มีรายได้จากต่างประเทศต้องนำเงินได้พึงประเมินมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดานั้น ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาประกาศนี้อย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เนื่องจากมีผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่มีการลงทุนต่างประเทศอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ โดยภาพรวมแนวทางที่สรรพากรนำมาใช้เพื่อจัดเก็บภาษีรายได้ในต่างประเทศส่วนนี้เพิ่มเติม เพราะคิดว่า บุคคลที่สามารถลงทุนต่างประเทศได้นั้น น่าจะเป็นผู้ที่มีความมั่งคั่งสุทธิสูง แต่ในความเป็นจริงแล้วช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านการลงทุนต่างประเทศได้พัฒนาขึ้นมาก ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากได้ทำการลงทุนในต่างประเทศ เพราะมองเห็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทน และมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่าการลงทุนแต่ในประเทศเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันนี้นักลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถเริ่มลงทุนต่างประเทศได้แล้ว ด้วยเงินเพียงหลักร้อยหลักพันบาทเท่านั้น

ดังนั้น หากต้องเสียภาษีในการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ควรจะต้องพิจารณาในส่วนนี้อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ลงทุนที่จะต้องเสียภาษีทุกคน ทั้งนี้ ในประเด็นของความเท่าเทียมกันในการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนนั้น เนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน ได้รับการยกเว้นภาษี capital gain tax ส่วนตัวเห็นว่าการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ก็ควรจะได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกัน ซึ่งตรงกับที่ทางกรมสรรพากรออกมาชี้แจงล่าสุดว่า ต้องการสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้น ภาษีภายในประเทศจัดเก็บแบบไหน ก็ควรจะนำไปใช้เป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศในแบบเดียวกัน 

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP