17 กันยายน 2566 : ปัจจุบันหากกล่าวถึง Global Megatrends แล้ว “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เป็นหนึ่งในประเด็นที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เป็นความเสี่ยงทั้งทางด้านกายภาพ เช่น ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านต่างๆ เช่น กฎหมายและนโยบายที่เปลี่ยนแปลงทำให้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่หยิบยกประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผนวกไว้ในวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร เพื่อกำหนดทิศทางนโยบาย กลยุทธ์ การบริหารจัดการความเสี่ยง และกระบวนการทำงาน
โดยจะเห็นได้จากแนวโน้มการประกาศ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ขององค์กรต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงประเทศไทยที่ได้ประกาศเป้าหมายในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP 26 เช่นกัน
จากประเด็นดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้ระบุถึงความสำคัญเรื่องความยั่งยื่นว่า นอกจากนี้ International Sustainability Standards Board หรือ ISSB ซึ่งเป็นหน่วยงานในการพัฒนามาตรฐานที่ช่วยให้การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทมีความครอบคลุมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ได้ออกมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (International Financial Reporting Standards: IFRS) เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนออกมา 2 ฉบับ คือ “IFRS S1” มาตรฐานเรื่องข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน และ “IFRS S2” มาตรฐานเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (คาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป)
IFRS ทั้งสองฉบับมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทและการเข้าถึงเงินทุน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ครอบคลุมการป้องกันความเสี่ยงในด้านกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงกระบวนการด้านการกำกับดูแล การกำหนดกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง และการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายขององค์กรที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (https://shorturl.asia/w5jzJ) รวมทั้งเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องมั่นใจว่าการดำเนินงานต่าง ๆ นั้นไม่ได้เป็นการฟอกเขียว (Greenwashing) หรือมีการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนตามจริงหรือบิดเบือนเกินจริง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
สำหรับประเทศไทย ก.ล.ต. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างตลาดทุนไทยมีความยั่งยืน จึงกำหนดให้ภาคธุรกิจต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งด้านการเงินและการดำเนินการที่สอดคล้องกับแนวคิดเพื่อความยั่งยืนทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งรวมไว้ในแบบรายงานฉบับเดียว (56-1 One Report) หรือ “One Report” ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับมาตรฐาน IFRS ทั้ง 2 ฉบับ ทั้งในส่วนของนโยบายและเป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืนการจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง และการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ดังนั้น การรายงาน One Report รวมถึงตามมาตรฐานสากลในการรายการข้อมูล IFRS ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับภาคธุรกิจในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และการรายข้อมูลก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green Finance)1 เสริมสร้างความเชื่อต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมทั้งช่วยเสริมการดำเนินงานด้านความยั่งยืน อันจะนำพาประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ “เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ” ที่สอดคล้องกับบริบทสากลอีกด้วย