19 ธันวาคม 2559 : มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวผ่านไปหยกๆ มาตราการแจกเงินผู้ที่ไม่รายได้น้อยวงเงิน 3,000 บาท ก็ตามมา จนเป็นที่ฮือฮาอย่างวงกว้างสำหรับกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย ล่าสุด มาตรการช็อปช่วยชาติ ของรัฐบาลทหารก็ถูกเคาะใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา มาตรการต่างๆที่รัฐบาลเคาะออกมา ล้วนแต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ขอแรงประชาชนช่วยสนับสนุนดันจีดีพีในปีนี้ขยับตัวขึ้น และเพียงแค่อาทิตย์กว่าๆก็จะจบปี 2559 อย่างเป็นทางการ ซึ่งไม่รู้ว่ามาตรการดังกล่าวจะกระตุ้นจีดีพีได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป
สำหรับมาตรการช็อปช่วยชาติ เป็นการนำเรื่องลดหย่อนภาษีมาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งมาตราการดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา โดยให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำใบเสร็จรับเงินเต็มรูปแบบในการซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตามที่ใช้จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ระหว่างวันที่ 14 – 31 ธ.ค. 59 (รวม18 วัน) นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ (โดยผลประโยชน์การลดหย่อนภาษีที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับฐานภาษีของแต่ละบุคคล)
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าและบริการบางอย่าง ที่ไม่เข้าข่ายได้รับการยกเว้นภาษี เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ ค่าเชื้อเพลิงที่รวมทั้งก๊าซและน้ำมัน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ (ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสียภาษีสรรพสามิต) ค่าโรงแรมและที่พัก และสินค้าและบริการ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ทองคำแท่ง และค่ารักษาพยาบาล
ทั้งนี้ หลังจากที่มาตรการช็อปช่วยชาติถูดเคาะออกมาใช้ในครั้งนี้ กูรูหลากหลายแห่งต่างให้ความเห็นถึงมาตรการดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ เพราะนอกจากชาติจะรอดปลอดภัยได้จีดีพีเพิ่มแล้ว ตลาดหุ้นพลอยสดใสตามไปด้วย เนื่องจากหุ้นบางกลุ่มก็ได้รับอานิสงค์ตามไปด้วย อย่างนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีซิมิโก้ จำกัด (มหาชน) ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างน่าสนใจว่า ระยะเวลาของมาตรการที่นานขึ้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
สำหรับผลของมาตรการนี้ คาดว่า จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มค้าปลีก โดยเฉพาะรายที่มีมูลค่ายอดซื้อต่อบิลสูง เช่น หุ้น HMPRO, GLOBAL และ ROBINS คล้ายกับปีก่อน โดยระยะเวลาของมาตรการที่นานขึ้น (เทียบกับปีก่อนที่มีเพียง 7 วัน) ก็น่าจะทำให้ผู้บริโภคมีเวลาที่จะใช้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวได้เต็มที่
อย่างไรก็ตาม หากมองในอีกมุมหนึ่ง ก็อาจเป็นไปได้เช่นกันที่การให้ระยะเวลาที่นานขึ้นจะทำให้การกระตุ้นการใช้จ่ายไม่ได้ดีขึ้นมากอย่างที่หวัง เพราะผู้บริโภคจะสามารถทยอยแบ่งการใช้จ่ายไปในกลุ่มสินค้าบริการที่เป็นสินค้าจำเป็น หรือการใช้จ่ายปกติได้ (ซึ่งสามารถขอใบกำกับภาษีเพื่อมาใช้ลดหย่อนได้เช่นกัน) ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายส่วนเพิ่ม ตามเป้าหมายของมาตรการได้อย่างที่หวัง (ขณะที่การให้เวลาสั้นๆ จะกระตุ้นให้ คนเร่งใช้จ่าย จึงมีโอกาสสูง ที่จะเป็นการใช้จ่ายส่วนเพิ่มจากรายจ่ายปกติ)
ดังนั้น มาตรการในปีนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลดีต่อกลุ่มค้าปลีกที่ขายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประวันจำวัน เช่น BIGC, BJC และ MAKRO ได้มากกว่าปีก่อน
ทั้งนี้ ยังคงมุมมอง การบริโภคยังฟื้นตัวได้ไม่โดดเด่นในปี 60 ฝ่ายวิเคราะห์ มองว่า ราคาหุ้นของกลุ่มค้าปลีกหลายบริษัทได้ปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนคาดความหวังของผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปพอสมควรแล้ว ขณะที่ในเชิงการประเมินมูลค่า เราคงมุมมอง Neutral rating สำหรับกลุ่มค้าปลีก เนื่องจากมองว่าราคาหุ้นของหลายบริษัทดูเต็มมูลค่า และการฟื้นตัวของการบริโภคในปี 60 มีแนวโน้มยังไม่แข็งแกร่งนัก
ฝ่ายวิเคราะห์ยังคงมุมมองที่ระมัดระวัง สำหรับหุ้นกลุ่ม consumer discretionary เนื่องจากมองว่าปัจจัยเฉพาะตัว ที่หนุนการเติบโตของกำไรในปีที่ผ่านมา เช่น มาตรการกระตุ้นของภาครัฐ การปรับตัวดีขึ้นของอัตรากำไรในธุรกิจเอง หรือการเติบโตจากรายได้อื่นจะน้อยลงในปี 60 หุ้นที่เราชอบในกลุ่มค้าปลีก ยังคงเป็น CPALL แนะ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 72 บาท ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มกำไรที่ดีขึ้น ของธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ และการเปิดสาขาใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวโน้มอัตราที่อยู่ในระดับต่ำยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ
ส่วนกูรูด้านวิเคราะห์เศรษฐกิจ อย่างศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงมาตรการนี้ว่า ผลจากมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” ที่ออกมาในช่วงระหว่างวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559 เป็นจำนวน 18 วัน คาดว่า น่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายซื้อสินค้าของประชาชนคิดเป็นเม็ดเงินที่กระจายไปสู่ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และธุรกิจบริการอื่นๆ ประมาณ 13,000 ล้านบาท
แบ่งเป็นการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกและบริการทั่วไปรวม 12,000 ล้านบาท และการรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร 1,000 ล้านบาท จากคนที่ต้องการใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษี อันเนื่องมาจากการขยายกรอบระยะเวลาในการซื้อสินค้าและบริการ ทั้งนี้ เม็ดเงินดังกล่าว คำนวณโดยให้น้ำหนักกับกลุ่มผู้บริโภคที่มีความสามารถในการใช้จ่าย ที่คาดว่าจะซื้อสินค้าและบริการในวงเงินตามที่ภาครัฐกำหนดและใช้สิทธิลดหย่อนภาษีค่อนข้างเต็มที่ ในขณะที่มีกลุ่มผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่งที่อาจจะไม่สามารถใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีรายได้ต่อเดือนหรือมีเงินออมที่ไม่สูงนัก
และจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มาตรการช็อปช่วยชาติ 15,000 บาทในปี 2559 ค่อนข้างได้รับความสนใจจากประชาชนที่ต้องเสียภาษีมากกว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากประชาชนกว่าร้อยละ 60.0 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด มีการวางแผนที่จะซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559 เพื่อต้องการใช้สิทธิจากมาตรการดังกล่าวมาทำการลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว
โดยให้เหตุผลว่าปีนี้มีการรับรู้ข่าวสารล่วงหน้า และด้วยระยะเวลาในการใช้สิทธิที่นานขึ้น (เป็นระยะเวลาเกือบ 3 สัปดาห์ จากเดิมปีที่แล้วเพียง 1 สัปดาห์) ทำให้มีเวลาเตรียมตัวและวางแผนการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่นานขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนที่จะใช้สิทธิ ไม่ว่าจะเป็น ความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ไม่ต้องเร่งรีบ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีระยะเวลาในการใช้จ่ายที่ค่อนข้างสั้นและกะทันหัน การเข้าแถวต่อคิวเพื่อรับใบกำกับภาษีที่น่าจะสะดวกรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องต่อคิวรอนาน อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนั้นผู้ที่สิทธิดังกล่าว มีเพียงร้อยละ 34 ที่ใช้สิทธิเต็มจำนวน
ดังนั้น การที่ภาครัฐได้ออกมาตรการช็อปช่วยชาติเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศนั้น น่าจะจูงใจให้ประชาชนที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมีการวางแผนการใช้จ่ายในช่วงเวลาดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสให้กับบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก (ที่จดทะเบียนอยู่ในระบบและสามารถออกใบกำกับภาษีได้) เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าเฉพาะที่อยู่นอกห้างฯ (อาทิ ร้านเฟอร์นิเจอร์ ศูนย์จำหน่ายประดับยนต์) รวมถึงร้านอาหารโดยเฉพาะร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารในโรงแรม และภัตตาคาร รวมถึงธุรกิจบริการอื่นๆ อาศัยช่วงเวลาดังกล่าวในการเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจ
ส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการควรมีการเตรียมความพร้อมทางด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่คาดว่าจะเข้ามาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมจุดให้บริการออกใบกำกับภาษีที่สะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เห็นได้ชัดถึงความไม่พร้อมในเรื่องของการออกใบกำกับภาษีในปีที่แล้ว ที่ทำให้ลูกค้าบางส่วนตัดสินใจที่จะไม่ซื้อสินค้า เพราะต้องต่อแถวยาวและรอคิวนาน หรือแม้แต่การบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า
นอกจากนี้ ด้วยข้อจำกัดทางด้านกำลังซื้อของลูกค้าบางกลุ่ม รวมถึงคนที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีแต่ยังไม่ได้มีการวางแผนการใช้จ่าย ผู้ประกอบการค้าปลีกก็อาจจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดควบคู่ไปกับมาตรการดังกล่าว เพื่อจูงใจให้ลูกค้าตัดสินใจใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในกลุ่มสินค้าที่ลูกค้าให้ความสนใจซื้อ เพื่อนำมาใช้สิทธิในการลดภาษี อาทิ อาหารเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัว กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า รองเท้า) โดยรูปแบบของการทำการตลาดก็ยังคงให้ความสำคัญกับการลดราคาสินค้า การชูความคุ้มค่าคุ้มราคา และการผ่อนชำระ 0% ที่นานขึ้น เพื่อจูงใจกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้สิทธลดหย่อนภาษีแต่มีฐานเงินเดือนไม่สูงนัก
สำหรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้าน เพื่อสังสรรค์ในช่วงปลายปีของคนไทย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการสังสรรค์มากกว่าหนึ่งมื้อกับกลุ่มต่างๆ เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง องค์กร เป็นต้น ส่งผลให้กลยุทธ์ของธุรกิจร้านอาหารในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2559 นี้ อาจอยู่ในรูปแบบการจัดโปรโมชั่นดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการร้านอาหารซ้ำหรือถี่ยิ่งขึ้น เช่น การมอบส่วนลดสำหรับการรับประทานอาหารในครั้งถัดไป การสะสมแต้มร่วมกันระหว่างร้านอาหารในเครือ เป็นต้น
ควบคู่ไปกับการสื่อสารไปยังลูกค้าถึงสิทธิประโยชน์จากการนำค่าอาหารและเครื่องดื่มมาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษี โดยมีระยะเวลาการจัดโปรโมชั่นสอดคล้องไปกับในช่วงระยะเวลามาตรการ อย่างไรก็ดี ธุรกิจร้านอาหารอาจขยายการจัดโปรโมชั่นต่อเนื่องไปจนถึงในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มที่เลือกสังสรรค์ในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงผู้คนจำนวนมาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า ผลจากมาตรการดังกล่าวก็น่าจะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก ร้านอาหารและธุรกิจบริการบางส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนหรืออยู่นอกระบบ เช่น ผู้ประกอบการค้าปลีกและร้านอาหาร SMEs หรือผู้ประกอบการ E-Commerce ตระหนักถึงโอกาสและข้อได้เปรียบดังกล่าว ก็อาจจะนำมาซึ่งการดึงกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ให้เข้าสู่ระบบได้เพิ่มขึ้น