WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันศุกร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ส่องเศรษฐกิจในมือรัฐบาลใหม่?

28 สิงหาคม 2566 : ภายหลังรัฐสภามีมติ 482 เสียง เห็นชอบให้ “นายเศรษฐา ทวีสิน” เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 หลังจากมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว สิ่งที่หลายคนจับตามองกันต่อไปคือ การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลก่อนเสนอตามขั้นตอนเพื่อโปรดเกล้าฯครม.

ขณะเดียวกันภาคเอกชน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ นอกจากโฉมหน้าของรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแล้ว อยากเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการช่วยเหลือภาคเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาต้นทุนทางการผลิต รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ที่ผ่านมา ทำให้เอสเอ็มอีมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะช่วยเอสเอ็มอีมีต้นทุนที่ถูกลงได้ รวมถึงต้นทุนด้านพลังงาน ค่าไฟ เป็นต้นด้วย

ขณะที่ภาคเอกชนก็มีสิ่งที่กังวล คือ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ที่รัฐบาลใหม่ควรแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะป็นระเบิดเวลาในการฉุดรั้งเศรษฐกิจ ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ในระบบสูงถึง 90.6% ต่อจีดีพี ขณะที่หนี้นอกระบบอยู่ที่ประมาณ 19.6% หากรวมทั้ง 2 ส่วน ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงถึง 110% ประเด็นดังกล่าวเป็นตัวกดทับกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ ส่วนเรื่องการส่งออก รัฐควรให้ความสำคัญเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

หากมองในฝั่งตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดตัวเลขผลประกอบการ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) รายงานผลการดำเนินงานงวดครึ่งแรกปี 2566 มี นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 764 บริษัท คิดเป็น 92.49% จากทั้งหมด 826 บริษัท (รวม SET และ mai ที่มีกำหนดส่งงบการเงิน ณ สิ้นงวด 30 มิถุนายน 2566 และไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) นำส่งผลการดำเนินงานงวดครึ่งแรกปี 2566 พบว่ามี บจ. รายงานกำไรสุทธิ 577 บริษัท คิดเป็น 75.52% ของ บจ. ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

ผลการดำเนินงานงวดครึ่งแรกปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บจ. ใน SET มียอดขาย 8,339,880 ล้านบาท ลดลง 2.8% ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มสูงขึ้น 7.8% จากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งส่งผลให้ บจ. มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit) และกำไรสุทธิลดลง สำหรับฐานะการเงินของกิจการ ณ 30 มิถุนายน 2566 บจ. ไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ratio (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ระดับ 1.53 เท่า ลดลงจาก 1.59 เท่าในครึ่งแรกปี 2566

“ราคาน้ำมันและค่าการกลั่นที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมีให้ยอดขายและกำไรอ่อนตัวลงค่อนข้างมาก แต่หากพิจารณาธุรกิจอื่นไม่รวมธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมี จะพบว่ายอดขายขยายตัวพอประมาณที่ 4.5% โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และสายการบิน

อย่างไรก็ดี บจ. ต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจหลากหลายปัจจัย รวมถึง ต้นทุนการผลิตที่ยืนอยู่ในระดับสูง กิจกรรมการขายที่ฟื้นตัวและมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอีกด้วย” นายแมนพงศ์ กล่าว

ด้านผลการดำเนินงานของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) งวดครึ่งแรกปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มียอดขายรวม 95,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% ต้นทุนการผลิต 71,014 ล้านบาท ลดลง 0.3% ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 18,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.0% ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 5,550 ล้านบาท ลดลง 14.1% และกำไรสุทธิ 1,503 ล้านบาท ลดลง 71.0%

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามียอดขายลดลง ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมี ประกอบกับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเร่ง และกดดันความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ดังนั้น ในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ ภายใต้รัฐบาลใหม่ มาลุ้นกันว่าจะดีอย่างที่ก้าวอ้างกันไหม โดยเฉพาะโฉมหน้าครม.และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้มากน้อยอย่าง

ส่วนโยบายแจกเงินดิจิดัลของพรรคเพื่อไทย บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด (Cryptomind Advisory) ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ใบอนุญาตที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ระบุว่า กรณีนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย ที่จะทำบนระบบบล็อกเชนซึ่งข้อสุดท้ายนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากบนโลกโซเชียลมีเดีย แม้ว่าโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีข้อดีมากมายแค่ไหน เป็นมีเรื่องที่น่ากังวล ตามมาด้วยเช่นกัน โดยทาง Cryptomind Advisory ได้รวบรวมสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้หากเริ่มนโยบายเงินดิจิทัลไว้ ดังนี้

1.ความเสี่ยงในการเกิดเงินเฟ้อ การที่มีปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นในทันทีจะทำให้มีแรงซื้อเข้ามาจำนวนมากจนอาจเกิดการดันราคาสินค้าและบริการให้เพิ่มขึ้น ทำให้เงินที่มีอยู่มีอำนาจในการซื้อลดลง (Purchasing Power) หากรัฐบาล ไม่สามารถคุมราคาสินค้าในตลาดได้ พนักงานที่ได้เงินเดือนเท่าเดิมจะได้รับผลกระทบซึ่งมีโอกาสกดดันมาที่บริษัทที่ต้องขึ้นเงินเดือนพนักงานต่อหรือธนาคารกลางที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจ เหตุการณ์ เหล่านี้อาจจะส่งผลต่อเนื่องเป็นวงกว้างจนเกิดปัญหาได้

2. ความไม่ชัดเจนในด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทยกล่าวว่าเงินดิจิทัลนี้ไม่ใช่ CBDC หรือเงินบาทหรือเงินธนาคารที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน แต่จะมีความคล้ายกับ Fiat-backed Stablecoin ที่มีเงินบาทหนุนด้านหลังในอัตรา 1:1 คล้ายกับ USDT หรือ USDC ที่หนุนด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐในจำนวนที่เท่ากัน ดังนั้น เงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ บล็อกเชนจึงมีความใกล้เคียงกับ "Utility Token หรือ E-money" แต่ก็มีรายละเอียดที่ยังขัดแย้งด้านกฎ หมาย ดังนี้

เงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจเทียบใกล้เคียงกับ Utility Token แบบพร้อมใช้กลุ่มที่ 1 ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ พ.ศ. 2561 เพราะ "ให้สิทธิ์แก่ผู้ถือเหรียญในการได้มาซึ่งบริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะ เจาะจง" ยกตัวอย่าง JFIN ของบริษัท Jaymart ที่นำไปแลกบริการต่าง ๆ เช่น เครื่องดื่มเต่าบิน หรือ Rabbit Reward ของ BTS หรือ BNK Governance token ของศิลปิน BNK48 ที่ใช้โหวตทิศทางของวง หรือใช้แลกรับของรางวัลพิเศษของวง เป็นต้น

โดย Utility Token มีกฎสำคัญคือ จะต้อง "ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลก เปลี่ยน สื่อการชำระเงิน หรือโอนมูลค่าเพื่อชำระราคาสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดเป็นการทั่วไป (Means of Payment)" และมีข้อบังคับของพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ที่มีเพียงธนาคารแห่งประเทศไทยที่มี อำนาจในการออกเงินตรา โดยแม้ รมว. กระทรวงการคลัง จะอนุญาตให้เอกชนรายใดรายหนึ่งออกเงินตรา ก็ไม่สามารถทำได้

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP