2 สิงหาคม 2566 : การลงทุนในตลาดทุนไทยช่วงนี้ เชื่อว่าหลายคนตามไม่ค่อยจะทัน เพราะมีความผันผวนอย่างมากตามกระแสข่าวการเมือง รอสัญญาณของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงทำให้เกิดสูญญากาศที่สุดจะคาดการณ์ แต่ถึงกระนั้นช่วงนี้ เพื่อให้พอร์ตลงทุนของเรามีความเสถียรด้านผลตอบแทนในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่มีปัจจัยบวกสนับสนุน
ผู้เชียวชาญด้านการลงทุน อย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor : VI) ได้แชร์กลยุทธ์ปั้นพอร์ตลงทุนให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทยดูเหมือนจะยากขึ้น ไม่ใช่เพราะว่าดัชนีหุ้นไทยไม่ไปไหนเพียงอย่างเดียว เป็นเพราะว่ากลยุทธ์การลงทุนแบบ VI แนว “ซุปเปอร์สต็อก” ที่ใช้มานานและได้ผลดีมากมาตลอดเริ่มได้ผลน้อยลงมาก เพราะหุ้นซุปเปอร์สต็อกในตลาดหุ้นไทยเดิม “อิ่มตัว” แล้ว
ในฐานะของนักลงทุนที่เป็น “นักเลือก” จึงแสวงหาประเทศและตลาดหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนสูงและความเสี่ยงต่ำ ช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เริ่มเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม จนพอร์ตลงทุนหุ้ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ของความมั่งคั่ง อานิสงส์ส่วนหนึ่งมาจากกำไรที่เพิ่มขึ้นและการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนที่ได้จากปันผลของหุ้นไทยที่ยังมีสัดส่วนกว่า65% ตลาดหุ้นเวียดนามไม่ได้เป็น“ การลงทุนทางเลือก” อีกต่อไปแล้ว
กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ใช้สูตรการลงทุนแนวของ Joel Greenblatt ที่ใช้อัตราส่วนทางการเงินที่แสดงถึงคุณภาพและราคาของหุ้นแบบ VI เป็นตัวคัดหุ้นลงทุน ซึ่งได้เข้าไปลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก ปัจจุบันยังคงถือหุ้นขนาดเล็กดังกล่าวอยู่ กลยุทธ์ต่อมาเลือกลงทุนในหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ของเวียดนาม เน้นอุตสาหกรรมและหุ้นที่เคยเป็นซุปเปอร์สต็อกของไทยในอดีตประมาณ 10-20 ปีที่ผ่านมา หุ้นที่เลือกประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่ 4 ตัว ขนาดกลางประมาณ 4 ตัว และหุ้นขนาดเล็กอีก 2-3 ตัว
นับจากต้นปีนี้จนถึงวันที่ 15 ก.ค.2566 ผลตอบแทนจากดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามเท่ากับ 16-17% เป็นการฟื้นตัวจาก “วิกฤติ” ตลาดหุ้นปีที่แล้ว ที่ดัชนีตกลงประมาณ 30% หุ้นเวียดนามโดยรวมที่ถืออยู่ในพอร์ตปรับตัวขึ้นมา 14-15% โดยที่พอร์ตส่วนที่เป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกนั้น ปรับตัวขึ้นน้อยกว่าหุ้นขนาดเล็กจำนวนเป็นร้อยตัวที่ถูกเลือก
ส่วนประเทศไทย ปัจจุบันยังใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบซุปเปอร์สต็อกประมาณครึ่งหนึ่งของพอร์ต อีกครึ่งหนึ่งเป็นแบบ “Super Cheap Stock” หรือหุ้นถูกมากที่ไม่ได้มีคุณสมบัติบางอย่าง เช่น การเติบโตสูง แต่มีคุณภาพอย่างอื่นดีพอใช้ และราคาหุ้นถูกมาก ผลการลงทุนที่ผ่านมาจากต้นปี คือ “เสมอตัว” ก็ถือว่าไม่แย่ เมื่อคำนึงถึงว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงเกือบ 10% ตลาดหุ้นเวียดนามที่ระยะหลังๆสร้างผลงานดีต่อเนื่อง ขณะที่หุ้นไทยดูเหมือนว่าจะสร้างความผิดหวังอยู่
ขณะที่ ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แชร์กลยุทธ์ลงทุนได้อย่างน่าสนใจเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า ตลาดหุ้นที่ Valuation ยังถูกมักมีปัจจัยความเสี่ยงกดดัน เช่น ตลาดหุ้นจีน ไทย และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม เรายังคงแนะนำทยอยสะสมหุ้นจีน A-share จากแนวโน้มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงในช่วงครึ่งหลังของปี และหุ้นไทย ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายเริ่มลดลง
สำหรับหุ้นจีน H-share เราได้มีการปรับมุมมองเป็น Neutral จากความกังวลประเด็นหุ้นกลุ่มธนาคาร (18% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด) ที่ผลประกอบการอาจถูกกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยและการเข้าช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงหุ้นกลุ่ม Tech (37% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด) จากความเสี่ยงด้าน Tech war ที่ยังคงมีอยู่ค่อนข้างสูง
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ SCB CIO ช่วงที่ธนาคารกลลางสหรัฐฯ(เฟด)มีการหยุดขึ้นดอกเบี้ย พบข้อสังเกตสำคัญ คือ 1.ช่วง 6 เดือนหลังจากเริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปีปรับลดลงอย่างมีนัยยะ (0.49-1.19%) 2.US dollar index ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น (ยกเว้น 2001 ที่เกิด dot com crisis และ3.ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ใน 6 เดือนหลังหยุดขึ้นดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม การเร่งตัวของ อัตราผลตอบแทนจากการถือครองพันธบัตร (Bond yield) ช่วงที่ผ่านมาเป็นปัจจัยชั่วคราว คาดจะเริ่มลดลงหลังเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง และสัญญาณที่ชัดของการหยุดขึ้นดอกเบี้ยจากเฟด เรามองว่ายังคงเป็นโอกาสดีที่จะสะสมพันธบัตรเข้าพอร์ต เพื่อจัดการกับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอตัว เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงบวกกับท่าทีของเฟด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงยาวทยอยลดลงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า แม้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยจะลดลง แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มดำเนินต่อไป