24 กรกฎาคม 2566 : “วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้สถิติจากองค์กาอุตุนิยมวิทยาโลกบ่งชี้ว่า 8 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์โลก ซึ่งวิกฤตสภาพภูมิอากาศนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำในคลองเวนิส ประเทศอิตาลี ที่แห้งขอดหลายสาย หรือฤดูร้อนปีนี้ของประเทศไทยที่ร้อนกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ การแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน
สำหรับภาคตลาดทุน ผู้มีส่วนร่วมต่างๆ ทั้งผู้ระดมทุน ผู้ลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมในตลาดทุน ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกัน
ต่อเรื่องดังกล่าว นางสาวสิรีฒร ศิวิลัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายผู้ประกอบธุรกิจ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ว่า จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเป็นอีกหนึ่งพลังอันสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 ตามนโยบายภาครัฐของไทย ที่จะนำพาเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนได้เช่นไร
สำหรับบทบาทของผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางกับปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ “ตลาดทุน” มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยไม่เพียงเป็นแหล่งระดมทุนให้แก่ภาครัฐและเอกชนเท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ บล.ซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างผู้ลงทุนกับผู้ต้องการเงินทุน (เช่น ผู้ออกหลักทรัพย์) มีหน้าที่ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อช่วยให้หลักทรัพย์มีสภาพคล่อง
รวมทั้งจัดให้มีและเผยแพร่บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนให้แก่ลูกค้า ขณะที่ บลจ. ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สิน มีหน้าที่จัดสรรเงินลงทุนไปยังผู้ออกหลักทรัพย์เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแก่ผู้ลงทุน (stewardship role)
ด้วยบทบาทหน้าที่ข้างต้น บล. และ บลจ. จึงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้กิจการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ในระยะยาวเพื่อให้กิจการนั้นๆ มีศักยภาพการแข่งขันและดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น บลจ. ที่มีนโยบายการลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน จะมีอำนาจตัดสินใจในการจัดสรรเงินลงทุนไปยังผู้ออกหลักทรัพย์ ซึ่งอาจพิจารณาใช้นโยบายหรือแผนการแก้ปัญหา climate change ของกิจการนั้น ๆ เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ลงทุนในกองทุนภายใต้การบริหารจัดการ
สำหรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกประเทศไทยมีเป้าหมายที่ 30 - 40% จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งได้จัดทำการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution : NDC) ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ไทยได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคี เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2608
ทั้งนี้ Paris Agreement กำหนดให้แต่ละภาคีต้องจัดทำ NDC และปรับปรุงทุก 5 ปี เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศตามข้อตกลง โดยไทยได้จัดทำ NDC กำหนด 4 สาขาที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายข้างต้น ได้แก่ 1. สาขาพลังงาน 2. สาขาคมนาคมขนส่ง 3.สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้พลังงาน และ 4.สาขาการจัดการของเสียชุมชน
นอกจากนี้ บลจ.สามารถอ้างอิง Thailand Taxonomy ในการจัดทำรายงานการลงทุนในกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกองทุนเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน เช่น บริษัท แสงแดด จำกัด (มหาชน) มีรายได้ 100%ที่มาจากการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสีเขียวตาม Thailand Taxonomy ดังนั้น หากกองทุน ABC ลงทุนใน บมจ. แสงแดด คิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน บลจ. สามารถรายงานว่าการลงทุนของกองทุน ABC 10% เป็นสีเขียวได้
ทั้งนี้ บทบาทของผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางในการมีส่วนช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปยังกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น ช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เม็ดเงินลงทุนของผู้ลงทุนด้วย อย่างไรก็ดี การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี พ.ศ. 2608 ของไทย หรือการกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมี “ความร่วมมือและการเริ่มต้นลงมือทำไปด้วยกัน” เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ