17 กรกฎาคม 2566 : กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.30-35.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.60 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.50-35.22 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือน ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินร่วงลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 15 เดือน
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯดิ่งลงหลังข้อมูลบ่งชี้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)ทั่วไปปรับขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งถือเป็นอัตราการปรับขึ้นที่น้อยที่สุดในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงสู่ 4.8% นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย.ขยับขึ้นน้อยที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี ทำให้นักลงทุนมั่นใจมากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)กำลังเข้าใกล้จุดสิ้นสุดวัฏจักรการคุมเข้มนโยบาย ทั้งนี้ ตลาดสัญญาล่วงหน้าสะท้อนว่ามีโอกาส 96% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25bp สู่ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. ซึ่งตลาดมองว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยรอบสุดท้าย โดยนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 514 ล้านบาท และ 3,527 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุว่า นักลงทุนจะติดตามข้อมูลยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย.ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ คาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากทางการจีนภายในเดือนนี้ อนึ่ง ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนได้สร้างฐานใหม่หลังดัชนีดอลลาร์กลับเข้าสู่กรอบที่เคยซื้อขายในช่วงก่อนเกิดภาวะเงินเฟ้อโลกพุ่งขึ้นเมื่อเดือนมี.ค.ปี 65 โดยยิ่งเฟดส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวท่ามกลางเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงยิ่งจะทำให้ตลาดมองไปถึงการลดดอกเบี้ยในปี 67 อย่างรวดเร็วมากขึ้น เราคาดว่าแรงส่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะแผ่วลง โดยเฉพาะการลดลงของระดับการออมส่วนเกินของผู้บริโภคซึ่งตรงข้ามกับการออมส่วนเกินระดับสูงในยุโรปและประเทศพัฒนาแล้วแห่งอื่นๆ สถานการณ์เช่นนี้สนับสนุนมุมมองหลักของเราที่ว่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มผันผวนในเชิงอ่อนค่าโดยอาจมีการฟื้นตัวสลับกลับขึ้นมาได้บ้างชั่วคราวระหว่างทาง
สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดการเงินจะให้ความสนใจกับการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบสอง แนวทางการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายด้านเศรษฐกิจต่อไป โดยหากในสัปดาห์นี้มีความชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นต่างๆมากขึ้นอาจส่งผลบวกต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและความต้องการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินบาทได้เช่นกัน