WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
กรุงศรี จัดสัมมนาสร้างแต้มต่อภาคธุรกิจด้วย ESG Financing

กรุงเทพฯ, 14 กรกฎาคม 2566 :  กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เดินหน้าจัดกิจกรรม Krungsri Business Talk สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ “Striving Green Businesses through Thailand Taxonomy” โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ มาร่วมแบ่งปันความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ต่างๆ เพื่อสร้างแต้มต่อในการพัฒนาด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (ESG Financing) รวมถึงฉายภาพทิศทางและโอกาสในการปรับตัว เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไทยไปสู่ความยั่งยืน

บทบาทของสถาบันการเงินไทย และ Thailand Taxonomy

นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ให้เกียรติเป็นประธานและกล่าวเปิดงาน โดยได้ให้มุมมองเกี่ยวกับกระแสการเงินเพื่อความยั่งยืนว่า แนวคิดเรื่อง ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) มีความสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นวาระสำคัญของโลกที่ทุกภาคส่วนในหลากหลายประเทศพยายามผลักดัน ในฐานะสถาบันการเงินที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กรุงศรีได้ร่วมสนับสนุนการร่างกรอบ Thailand Taxonomy ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของไทยที่ทุกภาคส่วนต้องศึกษาและทำความเข้าใจ โดยกรอบดังกล่าวจะถูกนำมาใช้อ้างอิงสำหรับการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยผลักดันภาคธุรกิจให้ปรับตัวและเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ภาคธุรกิจสีเขียว” อย่างแท้จริง

นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ที่มา และความสำคัญของ Thailand Taxonomy

ด้าน นางสาวศิริพิมพ์ วิมลเฉลา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของ Thailand Taxonomy ว่า มากกว่า 30% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Brown Industry) ดังนั้นโจทย์สำคัญคือการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใน speed ที่เหมาะสม และมีอุปสรรคน้อยที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าการมุ่งไปสู่ Green Economy 100% ในทันทีเป็นเรื่องยากและมีต้นทุนสูงมาก

ดังนั้นทาง ธปท. และคณะทำงานจึงได้ผลักดันมาตรการขับเคลื่อน 5 ด้านเพื่อสนับสนุนและเร่งให้ภาคธุรกิจปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างเป็นระบบ (5 Building Blocks) อันได้แก่ 1. การกำหนด Standard Practice 2. การร่วมจัดทำ Thailand Taxonomy 3. การพัฒนาฐานข้อมูล 4. การสร้างแรงจูงใจ และ 5. การพัฒนาองค์ความรู้

นางสาวศิริพิมพ์ วิมลเฉลา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับ Thailand Taxonomy เป็นเครื่องมือที่จะช่วยผู้ประกอบการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยในเฟสแรกเน้นให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจในสาขาพลังงานและคมนาคมขนส่ง เนื่องจากเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด โดยมุ่งเน้นในเรื่องการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation) ทั้งนี้ เชื่อว่า Thailand taxonomy จะเป็นมาตรฐานเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงตัวเงินทุนได้ง่ายขึ้น และส่งผลให้ Sustainable Finance หรือ การเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ภาพรวมของการเงินเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล

ด้าน Mr. Colin Chen, Head of ESG Finance, Asia Pacific, Asian Investment Banking Division, MUFG Bank, Ltd. กล่าวว่า ธุรกรรมทางการเงินด้าน ESG ในปี 2023 มีแนวโน้มขยายตัวสูง เนื่องจากนานาประเทศเริ่มหันมาพัฒนากรอบและกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ตลาดการเงินสีเขียว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการความเข้มงวดต่างๆ ของภาคธุรกิจในกลุ่มประเทศผู้นำด้านธุรกิจสีเขียว เช่น ยุโรป ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจของเอเชียในอนาคตอันใกล้

โดยปัจจุบันมีเพียงญี่ปุ่นและจีนที่กระตือรือร้นและลงมืออย่างจริงจังในการจัดการด้าน Sustainable Finance ดังนั้นเชื่อว่า ในปีนี้ เราจะได้เห็นแนวโน้มการจัดทำ Taxonomy อีกมากในหลายประเทศเช่นเดียวกับในประเทศไทย และ Thailand Taxonomy จะเป็นก้าวสำคัญของการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจตามกรอบความยั่งยืนต่อไป

กรุงศรี และการขับเคลื่อน Sustainable Finance

ด้าน นางสาวแจ่มจันทร์ ศิริกาญจนวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจหลักทรัพย์ตราสารหนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน หรือ ESG Bond เติบโตกว่า 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 23% อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากจำนวนมูลค่าการออกตราสารหนี้ทั้งหมดในประเทศไทยกว่า 8.8 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนของ ESG Bond เพียง 2.4% เท่านั้น แปลว่ายังมีโอกาสอีกมากที่เราจะสามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการปรับตัวและเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น Green Activity ต่อไป

โดยทางกรุงศรีมีแผนที่จะปล่อยสินเชื่อเพื่อสังคมและความยั่งยืน 50,000-100,000 ล้านบาทภายในปี 2573 ทั้งนี้ กรุงศรีได้ร่วมมือกับ Zeroboard ผู้เชี่ยวชาญด้านคลาวด์เทคโนโลยีในการดึงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรมต่างๆ ของธุรกิจและซัพพลายเชน เพื่อเป็นแนวทางในการให้สินเชื่อกลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนมากขึ้น

ในการสัมมนาครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากตัวแทนภาคธุรกิจ ได้แก่ นางสาวปาหนัน โตสุวรรณถาวร รองกรรมการผู้จัดการบัญชีและกรเงิน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ นายยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จในการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาการเงินเพื่อความยั่งยืน

โดยสรุปว่า การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนไม่ได้เป็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในองค์กร รวมไปถึง Supply Chain ต่างๆ ซึ่งในการดำเนินงานจำเป็นต้องอาศัยการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ธนาคารจึงมีบทบาทสำคัญมากในการช่วยสนับสนุนทั้งเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ ข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงช่วยในการวิเคราะห์ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงินเพื่อความยั่งยืนที่เหมาะสมให้กับบริษัท 

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP