3 กรกฎาคม 2566 : นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤษภาคม 2566 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีในภาคเหนือ และภาคใต้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 11.0 9.8 และ 7.5 ต่อปี ตามลำดับ
อีกทั้ง รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 29.4 ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 56.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุน ของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 295.7 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตน้ำดื่มและทำภาชนะบรรจุจากพลาสติก ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี
ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -21.0 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 92.0 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 23.2 และ 55.1 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 18.8 13.8 และ 17.7 ต่อปี ตามลำดับ
อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 52.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.5 ขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอตัว เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -12.3 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 23.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -3.7 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
สำหรับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 26.7 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานแปรรูปไม้และผลิตชิ้นไม้สับ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 88.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 86.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 109.9 และ 119.5 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 5.6 และ 14.2 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -9.9 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.1 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -34.0 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 20.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ส่วนเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 24.7 และ 34.2 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -16.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 17.7 และ 9.6 ต่อปี ตามลำดับ
ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 54.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.5 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -27.3 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
อย่างไรก็ตาม จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.0 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 32.2 และ 26.6 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนชะลอตัว อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจาก จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 4.5 และ 23.4 ต่อปี ตามลำดับ
ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัวร้อยละ -7.0 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับรายได้เกษตรกรชะลอตัวร้อยละ -15.5 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.8 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -15.1 และ -9.6 ต่อปี ตามลำดับ แต่ขยายตัวร้อยละ 33.6 และ 9.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
ส่วนเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 87.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 91.8 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 78.8 และ 146.9 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนชะลอตัว อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 2.5 และ 16.5 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัวร้อยละ -1.7 และ-3.6 ต่อปี ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.4 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี ขณะที่ จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.0 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 66.7 และ 172.4 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 16.1 และ 6.9 ต่อปี ตามลำดับ
ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 54.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.5 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -28.5 และ -3.0 ต่อปี ตามลำดับ
ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 972.3 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานฉีดพลาสติกผลิตโลโก้รถยนต์ ในจังหวัดสมุทรสาคร เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.0 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 13.4 และ 24.3 ต่อปี ตามลำดับ