3 กรกฎาคม 2566 : หลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับ ‘การลงทุนอย่างยั่งยืน’ หรือ ‘sustainable investing’ รวมทั้งกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund หรือ SRI Fund ) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมาบ้างแล้ว รวมทั้งคงเคยได้ยินคำบอกเล่าเกี่ยวกับการลงทุนลักษณะดังกล่าวนี้ แต่อาจไม่แน่ใจว่ามีสถานะและมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ที่ผ่านมามีสถาบันการเงินหลายแห่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ระบุว่า สำหรับบทบาทการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) เพื่อเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างเห็นผล โดยการสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมผ่านโซลูชันทางการเงินที่ยั่งยืนและปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ที่ผ่านมาธนาคารเป็นธนาคารแรกที่ออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางทะเล มูลค่ารวมมากกว่า 7,000 ล้านบาท
หากพูดถึงการลงทุนในสินทรัพย์เพื่อความยั่งยืน เพื่อให้นักลงทุนน้อยใหญ่เข้าใจยิ่งขึ้น นางสาวสิรีฒร ศิวิลัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายผู้ประกอบธุรกิจ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้หยิบยก 4 ประเด็นสำคัญ มาขยายความที่หลายคนเข้าใจผิด เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจมากขึ้น
ข้อแรก “การลงทุนอย่างยั่งยืนทำให้ผลตอบแทนของกองทุนรวมลดลง” ผลการศึกษาจากสถาบันชั้นนำหลายแห่งชี้ให้เห็นว่า ผู้จัดการกองทุนที่ผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม(Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ “ESG” ในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน จะช่วยให้เห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของกองทุนรวมได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ผู้จัดการกองทุนที่ผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนจะช่วยให้สามารถประเมินโอกาสทางการลงทุน และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อกิจการที่ออกหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมจะตัดสินใจลงทุน และพอร์ตการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งช่วยสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีในระยะยาวได้ต่อไป
ข้อที่ 2 “การลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นการลงทุนที่มุ่งเน้นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น” แม้ว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่การลงทุนอย่างยั่งยืนไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ กองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนอย่างยั่งยืนไม่ได้หมายความว่าต้องสนับสนุนกิจการที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน สามารถจัดตั้งและบริหารจัดการกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนที่มุ่งเน้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านอื่นๆตามกรอบ UN SDGs ได้ เพื่อให้แน่ใจว่าวัตถุประสงค์การลงทุนด้านความยั่งยืนของกองทุนรวมนั้น ๆ สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนของตนเอง
ข้อที่ 3 “การลงทุนอย่างยั่งยืน คือ การไม่ลงทุนในกิจการที่ดำเนินธุรกิจขัดต่อเป้าหมายด้านความยั่งยืนเท่านั้น” การคัดกรองเชิงลบ เป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนที่ผู้จัดการกองทุนสามารถเลือกใช้ในการบริหารจัดการกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี ในการบริหารจัดการกองทุนรวมที่มุ่งเน้นการลงทุนอย่างยั่งยืน ผู้จัดการกองทุนอาจเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายนอกเหนือไปจาก negative screening ได้
นอกจากนี้ ผู้จัดการกองทุนจะปฏิบัติหน้าที่ผู้ลงทุนที่มีความรับผิดชอบ ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ เพื่อให้บริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยผู้จัดการกองทุนจะหารือร่วมกับบริษัทในประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าเงินลงทุน เพื่อส่งเสริมให้บริษัทมีการปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยหากบริษัทไม่มีการพัฒนาหรือดำเนินการภายใต้กรอบระยะเวลาที่ตกลงกัน ผู้จัดการกองทุนก็อาจพิจารณาลดสัดส่วนหรือ ไถ่ถอนการลงทุนออกจากบริษัทดังกล่าวได้ต่อไป
ข้อสุดท้าย “การลงทุนอย่างยั่งยืน คือ กระแสการลงทุนของคนกลุ่มมิลเลนเนียลเท่านั้น” แม้ว่าคนกลุ่มมิลเลนเนียล หรือกลุ่มคนเจนวาย ที่เกิดช่วงปี พ.ศ. 2527 – 2539 จะเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก แต่ผลการศึกษากลุ่มผู้ลงทุนในหลายประเทศพบว่า ความสนใจเกี่ยวกับการลงทุนอย่างยั่งยืนครอบคลุมกลุ่มคนหลายรุ่น ไม่ใช่แค่กลุ่มมิลเลนเนียลเพียงอย่างเดียว โดยความแตกต่างที่สำคัญคือ กลุ่มมิลเลนเนียล ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
ขณะที่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่เกิดช่วงปี พ.ศ. 2489 – 2507 ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว จะให้ความสำคัญด้านความครอบคลุมทางสังคมและศาสนา รวมทั้งมีวัฏจักรการลงทุนที่แตกต่างจากกลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งเป็นกลุ่มที่เพิ่งจะเริ่มเส้นทางการลงทุนและสามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากกว่ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์