12 มิถุนายน 2566 : STARK (บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น) หุ้นร้อนที่ไม่มีพัก ที่หลายคนจับตามมองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ ที่เชื่อใจควักเงินก้อนใหญ่เข้าลงทุนด้วย ทั้งรูปแบบตราสารทุนและตราสารหนี้ ก็อย่างที่เรารู้ๆ กัน อะไรในก่อไผ่ที่ยังไม่เผยออกมา จนกว่าจะแจ้งงบการเงินได้ตามกำหนดในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ แม้ความเป็นไปได้จะริบหรี่ก็ตาม
การพิจารณาคัดแยกตราสารหนี้ที่มีแนวโน้มจะผิดนัดชำระหนี้ (Set Aside) หลายคนคงไม่เข้าใจและลืมกันไปบ้างแล้ว ว่าคืออะไร และทำเพื่ออะไรกัน หลังจากที่ บลจ.วรรณ ล่าสุดได้ประกาศว่า ทำ Set Aside หุ้นกู้ STARK รุ่น STARK245A ที่กองทุน ONE-FIXED และกองกทุน ONE-FAR ภายใต้การบริหารของบลจ.วรรณ ที่มีลงทุนอยู่มนกองทุน ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงที่บมจ.การบินไทย (THAI) มีปัญหาจนต้องเข้าแผนฟื้นฟู ทำให้กองทุนที่มีหุ้นกู้การบินไทย พาเหรดกันใช้กลยุทธ์ Set Aside ดังกล่าว
Set Aside คือ การที่กองทุนตราสารหนี้แยกการคำนวณ “ตราสารหนี้ที่มีปัญหา” ออกจากการคำนวณ NAV ปกติชั่วคราว เพื่อไม่ให้ตราสารหนี้ตัวใดตัวหนึ่ง ส่งผลกระทบในภาพรวมของกองทุนรวมตราสารหนี้
การใช้กลยุทธ์ Set Aside จะช่วยลดการขายแบบตื่นตระหนก (Panic Sell) จากนักลงทุนที่ลงทุนในกองตราสารหนี้ได้ หากไม่มีการแยกคิดคำนวณตราสารหนี้ที่มีปัญหาออกไปจะทำให้ NAV ของกองทุนปรับตัวลงอย่างมาก อาจจะทำให้เกิดความไม่สบายใจของนักลงทุน ทำให้นักลงทุนเทขายออกมาได้ และเมื่อนักลงทุนเทขายหน่วยของกองทุนรวมตราสารหนี้ออกมา ผู้จัดการกองทุนก็จำเป็นต้องเทขายตราสารหนี้ที่ถืออยู่เช่นกัน ยิ่งทำให้ราคาตราสารหนี้ในภาพรวมยิ่งปรับตัวลดลง
การทำ Set Aside จะช่วยป้องกันการเทขายจากนักลงทุน เพราะตราสารหนี้ที่มีปัญหา ไม่ได้ถูกนำไปคำนวณในช่วง Set Aside แล้ว ดังนั้น หากนักลงทุนจะขายกองทุนออกมาก่อน ก็จะถูกคำนวณจากส่วนอื่นของกองทุน ไม่ใช่ส่วนตราสารหนี้ที่มีปัญหาที่โดนแยกไว้ การ Set Aside เหมือนเป็นการพักไว้ก่อนเพื่อให้สถานการณ์ชัดเจน เพราะถึงแม้ว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดี แต่ราคาก็จะตอบสนองต่อความจริงไม่ใช่ลดลงกว่ามูลค่าที่แท้จริงจากแรงเทขาย ปกติแล้วกองทุนตราสารหนี้จะเตรียมสภาพคล่องไว้เพียง 5-15% หากสภาพคล่องมากเกินไป เงินที่ลงทุนก็ไม่เติบโต ทำให้เมื่อมีแรงขายจำนวนมาก ทำให้ได้รับผลกระทบต่อ NAV และยิ่งราคาลง คนที่เห็นทีหลังก็รีบขายตาม เกิดผลแบบ Snow Ball ทำให้ผลกระทบยิ่งหนักขึ้น