กรุงเทพฯ, 9 มิถุนายน 2566 : กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรธุรกิจชั้นนำ ไทย-ญี่ปุ่น-อาเซียน อาทิ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (The Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ประเทศญี่ปุ่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ Techo Startup Center และ Khmer Enterprise หน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของประเทศกัมพูชา
จัดงาน Japan-ASEAN Startup Business Matching Fair 2023 งานจับคู่เจรจาธุรกิจสตาร์ทอัพครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมไปกับส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ด้วยการเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพดาวรุ่งมากกว่า 60 ราย จากเก้าประเทศ ได้แสดงศักยภาพต่อนักลงทุนมากกว่า 160 บริษัทชั้นนำจากหกประเทศ เพื่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และต่อยอดการเติบโตให้ไปได้ไกลกว่าในระดับอาเซียน
ด้าน นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรุงศรี เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการสร้างอีโคซิสเต็มให้สตาร์ทอัพด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุน ความรู้ด้านเทคโนโลยี และข้อมูลธุรกิจ จนสามารถต่อยอดการคิดค้นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาของโลกในด้านต่าง ๆ รวมถึงมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และด้วยประสบการณ์ในการจัดงาน Business Matching อันเป็นหนึ่งในบริการที่โดดเด่นของกรุงศรีในการสร้างพื้นที่เชื่อมโยงทางธุรกิจ เราคาดว่าจะประสบความสำเร็จในการจับคู่ธุรกิจไม่ต่ำกว่า 360 คู่
สำหรับงาน Japan-ASEAN Startup Business Matching Fair 2023 นับเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพมากกว่า 60 บริษัทจากเก้าประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และฟินแลนด์ ในหลากหลายกลุ่มธุรกิจอย่าง เฮลท์เทค มาร์เก็ตเพลส ฟินเทค โลจิสติกส์ และคาร์บอนเครดิต เป็นต้น ได้มาพบปะเจรจาการค้า และนำเสนอแผนงานธุรกิจกับบรรดานักลงทุนมากกว่า 160 บริษัทชั้นนำจากหกประเทศในที่เดียว
ซึ่งได้รวบรวมสตาร์ทอัพโดยมีสตาร์ทอัพดาวรุ่งอย่าง Zeroboard Inc. สตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญด้านคลาวด์เทคโนโลยีเกี่ยวกับการคำนวณและการแสดงผลลัพธ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจและซัพพลายเชน DoctorTool สตาร์ทอัพธุรกิจกลุ่มเฮลท์เทคที่เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางไกล และการจัดจำหน่ายเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์จากประเทศอินโดนีเซีย และ Nham24 สตาร์ทอัพธุรกิจกลุ่มมาร์เก็ตเพลสซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ บริการส่งอาหารและเรียกแท็กซี่ อันดับหนึ่งในประเทศกัมพูชาให้ความสนใจเข้าร่วมด้วยเช่นกัน
ภายในงานนอกจากจะมีกิจกรรมไฮไลต์ที่น่าสนใจอย่างการนำเสนอผลงานของสตาร์ทอัพ (Startup Pitching) ที่เหล่าสตาร์ทอัพจะได้นำเสนอแผนธุรกิจต่อหน้านักลงทุนเพื่อปูทางสู่การต่อยอดธุรกิจแล้ว ยังมีกิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) และบูธจัดแสดงจากผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพกว่า 60 ราย สำหรับสตาร์ทอัพไทยเข้าร่วมงาน 18 บริษัท ซึ่งมีความคาดหวังว่าสตาร์ทอัพไทยจะสามารถได้จับคู่ธุรกิจ 10 ดีลหรือมากกว่านั้น
ในโอกาสนี้ ฯพณฯ นายโอบะ ยูอิจิ อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีและกล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพถือเป็นหนึ่งเรื่องที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุน ซึ่งอยู่ภายใต้กลยุทธ์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น (GX Strategy) และการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ของไทย
และกุญแจสำคัญที่ช่วยให้งานครั้งนี้บรรลุผลสำเร็จคือ ความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง (Co-creation) ซึ่งงานครั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมให้การสนับสนุนร่วมกับรัฐบาลไทย และภาคเอกชนทั้งในประเทศไทยและอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและร่วมส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น พร้อมเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ในวาระครบรอบ 50 ปี และจะสานต่อการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนไทยเพื่อต่อยอดความสัมพันธ์ให้ยั่งยืนต่อไป
โดยทางด้าน นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยถึงความสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้ว่าเปรียบเสมือนเวทีที่จะช่วยเติมเต็มและต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนสตาร์ทอัพ ตลอดจนเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ และระหว่างภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อสังคมชุมชน อันถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้อย่างทั่วถึง ทางด้านผู้บริหารระดับสูงจากเครือข่ายพันธมิตร
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้กล่าวว่า งานนี้เป็นโอกาสที่จะนำไปสู่ความร่วมมือใหม่ ๆ ระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียน พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของดิจิทัลสตาร์ทอัพต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจว่า ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจสู่ตลาดระดับสากล ดึงดูดนักลงทุน และสร้างตำแหน่งงาน ทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนโดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม พร้อมช่วยกระตุ้นให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย