31 พฤษภาคม 2566 : กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี สู่ระดับ 2.00% ต่อปี ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 6 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 โดยมีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อด้านสูง
จากถ้อยแถลงระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องชัดเจน ผลจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังคงตัวเลขแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 3.6% ในปีนี้ และ 3.8% ใน 2567 ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทรงตัวอยู่ที่ 2.0% ในปี 2566 และ 2567 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเทียบกับอดีต
ทั้งนี้ หลังการประกาศของ กนง. ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ราว 34.74 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ โดยภาพรวมในปีนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 0.6% ซึ่ง กนง. ย้ำว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ เป็นผลจากแนวโน้มของนโยบายการเงินของเฟด การอ่อนค่าลงของเงินหยวน รวมทั้งความไม่แน่นอนของสถาการณ์การเมืองภายในประเทศ
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ซึ่งจากท่าทีของ กนง. ที่ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในวันนี้บ่งชี้ว่า มีความกังวลชัดเจนเรื่องแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานสูง โดยระบุถึงความเสี่ยงด้านขาขึ้นของการเติบโตภายในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ แม้จะระบุว่ายังคงต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังมีความไม่แน่นอน
โดยยังมีความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับสูง กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.0% แต่ยอมรับว่ายังมีความเสี่ยงที่ กนง. อาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยต่อ ขึ้นอยู่กับตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ และปัจจัยทางการเมือง