24 พฤษภาคม 2566 : ในการแถลงข่าวล่าสุดของนายพาวเวลล์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้พูดถึงแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อที่เริ่มปรับลดลง หลังเกิดเหตุการณ์ธนาคารล้มในสหรัฐฯ แต่ยังคงมีมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบรุนแรง (Hard-Landing) ได้ ทั้งนี้เรายังคงติดตามข้อมูลภาคการค้าปลีก เงินเฟ้อ และ ดัชนีชี้วัดจากตลาดแรงงาน เพื่อคาดการณ์ถึงนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในเดือนมิถุนายน
ความกังวลเรื่องเพดานหนี้สหรัฐฯ (US Debt Ceiling) ยังคงเป็นความเสี่ยงหลักของตลาดในช่วงนี้ ทั้งนี้นักลงทุนยังคงมีมุมมองว่ารัฐบาลจะสามารถปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้อย่างท่วงทันเวลา อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าโอกาสที่จะเจรจาปรับขึ้นเพดานหนี้ไม่ทันจะมีน้อย แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้น้อยนี้ อาจะมีกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง
ซอนย่า เมสกิน หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคสหรัฐฯ ของ บีเอ็นวาย เมลลอน มองว่า ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รอบเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา Fed มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 5.00%-5.25% ตามการคาดการณ์ของตลาด ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีการดึงสภาพคล่องออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง (Quantitative Tightening; QT) ราว $9.5 หมื่นล้านต่อเดือน ทั้งนี้ ระดับดอกเบี้ยนโยบายของ Fed น่าจะอยู่ในระดับสูงสุดแล้ว ถึงแม้ว่าความเสี่ยงที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีกก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่
ตลาดมองว่าเส้นตายของการปรับขึ้นเพดานหนี้สหรัฐฯ คือช่วงสิ้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ เนื่องจากมีมาตรการพิเศษของกระทรวงการคลัง (Extraordinary Measures) ช่วยยืดเวลาเอาไว้ แต่รายได้จากภาษีของสหรัฐฯ ในปีนี้ที่น้อยกว่าปีที่แล้ว ทำให้สหรัฐฯ อาจเผชิญความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้เร็วกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจจะมาถึงในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ เรามองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การเจรจาเรื่องเพดานหนี้และการเจรจาร่างกฎหมายการเงินของรัฐบาลกลาง จะบรรลุได้ก่อนถึงเส้นตาย อย่างไรก็ดี หากการเจรจาไม่บรรลุภายในเดือนพฤษภาคม อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯจำเป็นที่ต้องดำเนินนโยบายแบบระมัดระวังมากขึ้นเนื่องจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการคลัง
โดยภาพรวมแล้วเราสังเกตถึง ความผันผวนของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำ และค่อนข้างนิ่งในช่วงที่ผ่านมา และความเสี่ยงด้านเครดิตสะท้อนผ่าน Credit Spread ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เรามองว่า Credit Spread มีโอกาสที่จะขยับสูงขึ้นในระยะข้างหน้าจากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่จะเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 โดยเฉพาะ Credit Spread ของตราสารหนี้คุณภาพต่ำ (High-Yield Bond) ของบริษัทมีสถานะทางการเงินอ่อนแอ
ด้าน อภิญญา องค์คุณารักษ์, CFA, CAIA กรรมการผู้จัดการสายงานบริหารการลงทุน หัวหน้าฝ่ายลูกค้า Ultra-High Net Worth และ Family Office ของบล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองว่า ความผันผวนในการลงทุนทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยเองยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมถึงตัวเลขทางด้านการบริโภคเริ่มส่งสัญญาณอ่อนตัวลงถึงแม้ว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแรงดีอยู่ ในส่วนของจีนที่เปิดประเทศ แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ได้กลับมาโตเร็วอย่างที่คาด ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด
มองตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่ได้อยู่ในระดับที่ราคาถูกแล้ว เนื่องจากวิ่งขึ้นมาเยอะตั้งแต่ต้นปี แนะนำนักลงทุนจัดพอร์ตการลงทุนที่มีการกระจายตัวอย่างเหมาะสม และเน้นคุณภาพ ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชนที่ออกโดยบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือสูง เพราะมองอัตราดอกเบี้ยในตลาดใกล้จุดสูงสุดแล้ว การลงทุนในตราสารหนี้มีความน่าสนใจมากขึ้นในรอบหลายปีเมื่อเทียบกับการลงทุนในตราสารทุน รวมถึงเป็นการป้องกันความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนในกรณีที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย
ในขณะเดียวกัน การลงทุนในหุ้น ควรเน้นลงทุนในกลุ่มบริษัทที่มีคุณภาพ มีอัตราการเติบโตที่ดี มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ มีความสามารถที่จะผ่านพ้นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงได้ และราคาหุ้นยังอยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไป แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทขนาดเล็กที่ยังไม่มีกำไร เนื่องจากปัจจุบันสภาวะการปล่อยสินเชื่อมีการตึงตัว บริษัทที่ยังต้องพึ่งพาเงินทุน และเงินกู้ยืมจากภายนอกอาจจะพบความยากลำบากในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นได้