WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทางเลือกออมสบายหลังเกษียณ

22 พฤษภาคม 2566 : การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นยังประโยชน์ทั้งต่อตัวนายจ้างและลูกจ้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บออมเงินให้ลูกจ้างใช้จ่ายตอนเกษียณอายุแล้วและถือว่าเป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งที่นายจ้างมีให้แก่ลูกจ้าง แต่จะต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบใดบ้าง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างอย่างเข้าใจอย่างถ่องแท้

 

คุณสาริกา อภิวรรธกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อธิบายไว้ว่า สิ่งที่นายจ้างต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนดังกล่าว ประกอบด้วย

 

1.จ่ายค่าธรรมเนียมการจัดตั้งกองทุน

ค่าธรรมเนียมการจัดตั้งกองทุน (initial fee) เป็นค่าใช้จ่ายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนที่นายจ้างต้องรับผิดชอบและจ่ายเพียงครั้งเดียว โดยสามารถตรวจสอบค่าธรรมเนียมดังกล่าวกับบริษัทจัดการที่จะจัดตั้งกองทุนด้วย สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดำเนินกิจการของกองทุนที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงว่าจะเป็นความรับผิดชอบของกองทุนหรือนายจ้างหรือบริษัทจัดการ เช่น ค่าผู้สอบบัญชี (auditor fee) และค่าทะเบียนสมาชิก (registrar fee) เป็นต้น

2.จ่ายเงินสมทบและรวบรวมเงินเข้ากองทุน

ตามกฎหมายแล้ว นายจ้างสามารถส่งเงินสมทบและสมาชิกสามารถส่งเงินสะสมได้ตั้งแต่ 2%-15% ของค่าจ้างสมาชิก แต่จะเป็นจำนวนเท่าไรนั้นขึ้นกับข้อบังคับกองทุนของตน ซึ่งนายจ้างและสมาชิกไม่จำเป็นต้องส่งในอัตราส่วนที่เท่ากัน เช่น นายจ้างต้องรวบรวมเงินสมทบและเงินสะสมทุกเดือนส่งเข้ากองทุนภายใน 3 วันทำการนับตั้งแต่วันจ่ายค่าจ้างอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้โดนค่าปรับหากนายจ้างไม่สามารถส่งเงินได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

3.สนับสนุนคณะกรรมการกองทุน (Fund Committee – FC)

FC เป็นตัวแทนของลูกจ้างและนายจ้างที่ช่วยดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กองทุน มีหน้าที่เลือกนโยบายการลงทุน คัดเลือกบริษัทจัดการ ติดตามการลงทุน และให้ความรู้สมาชิก หากนายจ้างสนับสนุนการทำงานของ FC ก็ย่อมทำให้การบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในภาพรวมเป็นไปอย่างราบรื่นเช่นกัน โดยตัวอย่างเรื่องที่นายจ้างสนับสนุน เช่น

งบประมาณประชาสัมพันธ์เรื่องราวสำคัญที่เป็นประโยชน์แก่สมาชิก อาทิ การส่งเสริมให้สมาชิกส่งเงินสะสมมากขึ้น การส่งเสริมให้ FC และบริษัทจัดการให้ความรู้สมาชิกให้เลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตน การวิเคราะห์ปัญหาการไม่สมัครเป็นสมาชิกกองทุน และการสนับสนุนให้ FC ศึกษาความรู้เพิ่มเติมเพื่อประโยชน์สูงสุดของกองทุน

จะเห็นได้ว่า ภายหลังจากนายจ้างตัดสินใจจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ไม่ได้จบลง ณ จุดตัดสินใจ แต่นายจ้างยังเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นมาแล้ว เดินทางไปพร้อมกับสมาชิกจนถึงจุดหมายปลายทาง ดังนั้น เพื่อให้เครื่องมือการออมเพื่อการเกษียณอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปถึงจุดนั้นอย่างราบรื่น นายจ้างจึงเป็นแรงผลักดันและสนับสนุนเบื้องหลังอย่างแท้จริง 

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP