8 ธันวาคม 2559 : นายปิยะศักดิ์ อุกฤษ์นุกูล บริษัท เงินติดล้อ จำกัด เปิดเผยถึง เป้าหมายการขยายตัวทางด้านสินเชื่อโดยรวมคาดว่าจะมีประมาณ 20-25% หรือ 3.5 แสนบาท ปัจจัยมาจากการขยายสาขาเพิ่มอีก 70 สาขา สิ้นปีมี 480 สาขา รวมปีหน้าจะมีสาขาเพิ่มเป็น 550 สาขา โดยสาขาส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด 80% ในกรุงเทพเพียง 20% พอร์ทใหญ่ เป็นรถเก๋ง-กระบะ 50% มอเตอร์ไซด์ 10% ที่เหลือจะเป็นรถบรรทุก- รถแท็กเตอร์ 40% ขณะที่ยอดลูกหนี้ คงเหลือ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2559 มีราว 20,000 ราย จึงมุ่งขยายฐานลูกค้าสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สืบเนื่องจากบริษัทฯได้ใบอนุญาตโบรกเกอร์ประกันภัยมาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วงปลายปี 2558 บริษัทเริ่มเปิดตลาดประกันภัยโดย แจกประกันอุบัติเหตุฟรี!! สำหรับลูกค้าสินเชื่อรถจักรยานยนต์ทุกรายรวมแล้วประมาณ 2.7 แสนราย เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจ ถือเป็นกลยุทธ์ในการเปิดตลาดให้ลูกค้าได้สอบถามถึงประกันภัยที่ได้รับไปนั้นด้วย หากเมื่อมีความเข้าใจมากขึ้น ลูกค้าหลายรายก็จะเลือกซื้อแบบประกันที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเขาได้
“ประกันที่แจกไปเมื่อปีที่ผ่านมาผลตอบรับดีตอบกลับมาเกือบครึ่ง แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าตลาดถูกกำหนดโดยโบรกเกอร์ ซึ่งโบรกเกอร์ส่วนใหญ่จะเน้นขายประกันรถยนต์ เพราะเขาอยู่ได้ด้วยคอมมิชชั่น แต่ถ้าขายประกันประเภทอื่นเบี้ยเพียงราคาถูก คอมมิชชั่นเพียง 100-200 บาท น้อยไปสำหรับเขา แต่เงินติดล้อเป็นรูปแบบบริษัท ธุรกิจหลักก็เป็นสินเชื่อ ฉะนั้นก็มีความสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นควบไปกับประกัน ได้อีก เช่น ต่อภาษี ต่อพ.ร.บ. รถยนต์เป็นต้น ก่อนหน้านี้เราเน้นทำตรงนี้ให้กับลูกค้าเท่านั้น แต่ตอนนี้เราก็เปิดกว้างทำให้ลูกค้าทุกรายได้ ใครที่ขับผ่านเงินติดล้อสามารถแวะเข้ามาซื้อพ.ร.บ.ได้ โดยที่เราไม่บวกราคาค่าดำเนินการเพิ่ม
ดังนั้นในปี 2560 บริษัทฯจะเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเบื้องต้นเน้นเจาะฐานลูกค้ารากหญ้าที่มีอยู่ ซึ่งตลาดประกันวินาศภัยทั้งระบบมีเบี้ยประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ถ้าแยกเฉพาะประกันรถยนต์ภาคสมัครใจเพียงอย่างเดียว ได้แก่ ประกันชั้น 1,2,3, 2+ และ 3+ คิดเป็นเบี้ยรวม 1.2 แสนล้านบาท ในขณะที่บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันรับไว้ 7-800 ล้านบาท คาดว่าขยายตัวกว่า 100% จากปัจจุบันมีเบี้ยประกันรับ 350 ล้านบาท ถือว่าบริษัทฯ ยังเป็นเพียงก้าวเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มเท่านั้น
สำหรับ สินค้าที่มีให้บริการอยู่แล้วคือประกันมะเร็ง และจะปรับผลิตภัณฑ์ให้ราคาย่อมเยาว์ลงมา เช่น การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล โดยมี 3 แบบให้เลือก เริ่มจากเบี้ยประกันเพียงวันละ 1 บาท หรือ 365 บาทต่อปี รวมถึงแบบราคากว่า 700 บาท และกว่า 1,000 บาทต่อปี ความคุ้มครองเริ่มต้น 2 แสนบาท (กรณีเสียชีวิต)โดยมีพันธมิตรส่งงานให้กับบริษัทประกันกว่า 10 แห่ง
“ต้องบอกว่าการประกันถือเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับฐานลูกค้ารากหญ้า เขายังไม่เห็นความสำคัญว่าประกันคืออะไร จึงต้องเริ่มต้นจากการให้ความรู้ก่อน ซึ่งความท้าทายของการขายประกันให้กับกลุ่มรากหญ้า มี 2 ประการคือ ประการแรกเรื่องความรู้ที่ยังไม่ทั่วถึง และประการที่สอง กำลังซื้อเขายังไม่สูงพอ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ณ ตอนนี้ในตลาด ซึ่งทุกคนที่มีรถ อยากจะทำประกัน แต่เบี้ยประกันชั้น 1 เบี้ยอาจจะสูง จึงต้องออกแบบสินค้าให้ตอบโจทก์แก่ลูกค้ากลุ่มนี้ให้มากที่สุด” นายปิยะศักดิ์ กล่าว
นายปิยะศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า “เงินติดล้อ” คือ บริษัทไมโครไฟแนนซ์ ที่ดูแลรายย่อยลงมา แต่จริงๆ แล้วลูกค้ากลุ่มนี้มีความต้องการ 4 ประเภทเหมือนกันกับลูกค้าระดับบน คือ ขอสินเชื่อ ออมเงิน ประกัน และการโอนเงิน ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ บิลต่างๆ ปัจจุบันเริ่มต้นที่สินเชื่อ ขยับขยายมาเป็นประกัน และจะมีบริการรูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป
นอกจากนี้ ทางด้านระบบไอที บริษัทฯ ลงทุนไว้ประมาณ 10 ล้านบาท ที่มีการทำแอ็คเค้าท์ไลน์ เปิดตัวโลโก้ไหม่ สร้างแบรนด์ภายในองค์กร และคาดว่าในปี 2560 จะเพิ่มงบประมาณเป็น 30 ล้านบาท เพื่อดำเนินการด้านอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา