2 พฤษภาคม 2566 : กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.85-34.60 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.11 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.06-34.52 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับเงินยูโรและเงินปอนด์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ใกล้จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
อย่างไรก็ดี ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกของสหรัฐฯต่ำกว่าคาดแต่มาตรวัดเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ทางด้านเงินเยนร่วงลงอย่างรุนแรงหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษต่อไป โดยบีโอเจคงเป้าหมายดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภท 10 ปีไว้ที่ราว 0% โดยเปิดโอกาสให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร เคลื่อนไหวภายในกรอบ -0.5% ถึง 0.5% ตามเดิม
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 3,956 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 5,404 ล้านบาท โดยในเดือนเม.ย.เงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.2% ขณะที่สกุลเงินภูมิภาคปรับตัวกระจัดกระจาย
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุว่า เหตุการณ์สำคัญอยู่ที่การประชุมเฟดวันที่ 2-3 พ.ค. ซึ่งคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25bp สู่ 5.00-5.25% และจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของวัฎจักรท่ามกลางความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของภาคธนาคารแม้อัตราเงินเฟ้อยังลดลงช้าก็ตาม
โดยนักลงทุนจะให้ความสนใจกับการสื่อสารของเฟดเกี่ยวกับทิศทางนโยบายในระยะถัดไป นอกจากนี้ ยังมีการประชุมธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)วันที่ 4 พ.ค.ซึ่งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 25bp และยังคงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกสักพักหนึ่ง รวมถึงข้อมูลการจ้างงานเดือนเม.ย.ของสหรัฐฯซึ่งอยู่ในความสนใจของตลาดเช่นกัน อนึ่ง ตลาดการเงินในประเทศเปิดทำการเพียง 2 วันในสัปดาห์นี้ โดยผลการประชุมธนาคารกลางและตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญต่างๆจะส่งผลให้ตลาดโลกมีแนวโน้มผันผวนสูงช่วงคาบเกี่ยววันหยุดของไทย
สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ของไทยซึ่งคาดว่าจะชะลอลงต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนมี.ค.เกินดุลสูงสุดรอบ 37 เดือนที่ 4.8 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกหดตัวน้อยกว่าคาด ส่วนเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเดือนมี.ค.ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า แต่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลง โดยธปท.ให้ความเห็นว่าระยะข้างหน้าต้องติดตามเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ