24 เมษายน 2566 : ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมมาส 1/2566 โดยกลุ่มธนาคารทั้ง 10 แห่งมีกำไรสุทธิรวม 60,279 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,070 ล้านบาท บวก 13.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยไตรมาส 1/2565 กลุ่มธนาคารมีผลกำไรสุทธิทั้งสิ้น 53,189 ล้านบาท ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เพิ่มขึ้นเช่นกันจำนวน 19,348 ล้านบาท บวก 47.3% โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์งวดไตรมาส 4/2565 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 40,931 ล้านบาท
ส่วนผลประกอบแต่ละธนาคารเป็นอย่างไร เริ่มจาก นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2566 จำนวน 10,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากปีก่อน ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 24,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.0% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ บริษัทตั้งเงินสำรองจำนวน 9,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.5% เพื่อเป็นสำรองส่วนเพิ่มสำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่ง
ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับสูงที่ 163.8% คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 3.32% ปรับตัวลดลงจาก 3.34% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 และเงินกองทุนรวมตามกฎหมายของบริษัทฯ ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.6%
ทางด้าน นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในไตรมาส 1 ปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,741 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 4.19% โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 26,781ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของรายได้จากการดำเนินงานและการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ตามหลักความระมัดระวัง แม้ว่าจะลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2565 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ธนาคารและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 10,129 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2565 จำนวน 42.30% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสุทธิกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝาก และการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าสู่ระดับเดิมที่ร้อยละ 0.46 ต่อปี
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.84 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 265.1
ส่วน นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส1/2566 ธนาคารและบริษัทฯย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 10,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.6% จากในช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) มีกำไรเพิ่มขึ้น 24.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง 18.8% จากพอร์ตสินเชื่อที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น 48.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยพิจารณาถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน รวมทั้งเงินเฟ้อซึ่งแม้ว่าจะเริ่มลดลงแต่ยังคงอยู่ระดับที่สูง และยังคงรักษา Coverage Ratio ในระดับสูงที่ 183.2% เทียบกับ 179.7% เมื่อสิ้นปี 2565 พร้อมทั้งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) 3.22% ลดลงจากสิ้นปี 2565
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไตรมาสแรกของปี 2566 ธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 8,676 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นจำนวน 1,258 ล้านบาท หรือ 17.0% จากไตรมาสแรกของปี 2565 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมถึงภาระการตั้งสำรองที่ลดลง มีเงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.3% หรือจำนวน 5,145 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสินเชื่อเพื่อรายย่อย สุทธิกับการลดลงของสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.35% เทียบกับ 3.28% ในไตรมาสแรกของปี 2565 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ปรับตัวดีขึ้นที่ 2.26% จาก 2.32% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 จากแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบระมัดระวัง ส่งผลให้สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับที่ 116 เบสิสพอยท์ ในไตรมาสแรกของปี 2566 อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 167.1% อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.95% เทียบกับ 17.97% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565
ขณะที่ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2566 TTB มีกำไรสุทธิ 4,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,099 ล้านบาท บวก 34.40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่กำไรไตรมาส 1/2565 อยู่ทึ่ 3,195 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 448 ล้านบาท บวก 12% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) โดยไตรมาส 4/2565 มีกำไรอยู่ที่ 3,846 ล้านบาท หนุนโดยเงินฝากประจำ ซึ่งเป็นไปตามแผนการบริหารต้นทุนเงินฝากภายใต้ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อคงความสามารถในการสร้างผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประกาศปรับขึ้นอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงิน (FIDF) สู่ระดับก่อนโควิด-19 สร้างแรงกดดันต่อต้นทุนเงินฝาก ธนาคารได้ใช้กลยุทธ์การรีไซเคิลเงินทุน หรือนำสภาพคล่องที่ได้รับจากการชำระคืนหนี้ไปหมุนเวียนใช้ปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าภายใต้กรอบความเสี่ยงที่เหมาะสม ประกอบกับหลายไตรมาสก่อนหน้านี้ธนาคารได้ทยอยขยายฐานเงินฝากไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ยังสามารถขยายสินเชื่อใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องเร่งขยายฐานเงินฝาก สะท้อนได้จากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่อยู่ที่ 97% ณ สิ้นไตรมาส 1/2566
ขณะเดียวกัน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP มีกำไรสุทธิจำนวน 2,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30 ล้านบาท บวก 1.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(YoY) ที่ไตรมาส 1/2565 มีกำไรสุทธิที่ 2,055 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 655 ล้านบาท บวก 46.00% เมื่อเทียบกับไตตรมาสก่อนหน้า(QoQ) ที่มีกำไรสุทธิที่ 1,430 ล้านบาท โดยหลักมาจากผลการดำเนินงานในส่วนของธุรกิจธนาคารที่รายไดด้อกเบี้ยสุทธิยังคงขยายตัวได้ในระดับที่ดี ด้านอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่า ด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ในระดับคงที่ 3.32% และมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 151.6%
บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO มีกำไรสุทธิจำนวน 1,792 ล้านบาท ลดลง 3 ล้านบาท ลดลง 0.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(YoY) ที่ไตรมาส 1/2565 มีกำไรสุทธิที่ 1,795 ล้านบาท และลดลง 15 ล้านบาท ลดลง 0.83% เมื่อเทียบกับไตตรมาสก่อนหน้า(QoQ) ที่มีกำไรสุทธิที่ 1,807 ล้านบาท เป็นผลจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นสอดรับกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับแข็งแกร่ง 23.5% และเงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงถึง 248%
สำหรับ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT มีกำไรสุทธิจำนวน 830 ล้านบาท ลดลง 231 ล้านบาท ลดลง 22.00% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(YoY) ที่ไตรมาส 1/2565 มีกำไรสุทธิที่ 1,0661 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 730.00% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า(QoQ) ที่มีกำไรสุทธิที่ 100 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 1.5% และรายได้อื่น 46.5%
บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG กำไรสุทธิจำนวน 670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.00% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(YoY) ที่ไตรมาส 1/2565 มีกำไรสุทธิที่ 512 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 325 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า(QoQ) ที่มีกำไรสุทธิที่ 345 ล้านบาท หลักๆ เป็นการเพิ่มขึ้นของกําไรสุทธิของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่มีกําไรสุทธิ 526.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลักๆ เป็นผลจากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น