จ.นครปฐม, 27 มีนาคม 2566 : โลกยุคใหม่ต้องการผู้ที่สามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสร้างสรรค์ ความจำเป็นในการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะแรงงาน และการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็น Up Skill- Re Skill รวมถึงการเสริมทักษะ Life Skill เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ
ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 27 เล็งเห็นถึงความจำเป็นทางด้านการพัฒนาทักษะแรงงาน พาครูอาจารย์ และผู้บริหารจากองค์กรภาครัฐและเอกชน เข้าเยี่ยมชมกิจการ โครงการอุทยานการอาชีพชัยพัฒนา จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นศูนย์วิชาการและศูนย์ข้อมูลทางด้านการพัฒนาอาชีพตลอดจนเป็นแหล่งฝึกอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว สำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาอาชีพและผลิตภัณฑ์เพื่อการค้า หรือสร้างอาชีพ ตอบโจทย์ด้านแรงงานและการพัฒนาเพื่อ Up Skill – Re Skill
พร้อมร่วมกิจกรรมศึกษากระบวนการเรียนรู้หลักสูตรพิเศษ สำหรับการเรียนการสอนเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ครบทุกมิติ การทำ Workshop ถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เรียนรู้นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชน Interactive Board Game จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี และ อาจารย์ อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และการพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดดสำหรับองค์กร
โดยได้รับเกียรติจาก นายชยชัย แสงอินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประธานในพิธี และ มรว.จิยากร อาภากร เสสะเวช ผู้บริหารหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย ร่วมเปิดกิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 27
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นองค์กรภาคเอกชน ได้มองเห็นถึงปัญหาด้านแรงงานที่เกิดจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่กระจายเป็นวงกว้าง ส่งผลให้เกิดการว่างงาน อีกทั้งแรงงานที่มีอยู่ไม่สามารถตอบโจทย์กับความต้องการแรงงานที่แท้จริงได้ ซึ่งในอนาคตแรงงานอาจถูกทดแทนโดยเทคโนโลยี หากไม่สามารถปรับตัวพร้อมรับมือและอยู่รอดภายใต้โลกบริบทใหม่ (New Normal) ได้ ซึ่งการพัฒนาทักษะแรงงาน ทั้งทางด้านการยกระดับ และการสร้างทักษะใหม่ Up Skill- Re Skill เพื่อให้มีความพร้อมที่จะในการทำงานและการปรับตัวภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายควรต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อความมั่นคงและเติบโตของเศรษฐกิจ
ด้าน ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวเพิ่มเติมว่า “การพัฒนาทักษะแรงงาน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาสมรรถนะในการปรับตนเอง Up Skill – Re Skill ให้เข้ากับเทคโนโลยี หรือการพัฒนาความรู้และฝึกอบรมเพื่อขยายหรือสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็น โดยควรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะชีวิต- Life Skill รวมถึงการปรับทัศนคติและจิตใจเพื่อให้เกิด Growth Mindset เตรียมพร้อมในการที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันและอนาคต
ซึ่งกิจกรรมของโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมด้วยการส่งเสริมคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู และการก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามบริบทของ SDG จะช่วยให้ทุกคนสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” โครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา
จัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) มูลนิธิธรรมดี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเยี่ยมเยือนโครงการในพระราชดำริ และช่วยส่งเสริมให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น
สำหรับผู้บริหารสถานศึกษาผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในการทรงงานเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้มีความสุขและมีความเป็นอยู่ที่ดี อีกทั้งยังเพื่อสนองตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”