23 มีนาคม 2566 : นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคมปีนี้พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวนกว่า 1,600 รายแล้วโดยผู้ป่วยจะอยู่ในช่วงอายุ 5-14 ปีมากที่สุด ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกเป็นสิ่งที่ทางกรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญ
โดยมีการดำเนินการให้ทั้งโรงเรียน สถานพยาบาล ชุมชนต่างๆ เฝ้าระวังพร้อมมาตรการจัดการลูกน้ำยุงลายที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของโรค ทั้งนี้ โครงการ “Dengue-zero School Project โรงเรียนติด Guard ห่างไกลไข้เลือดออก”ที่ทางทาเคดาและคาโอได้ร่วมกันขับเคลื่อนไปพร้อมกับกรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย และสำนักการศึกษา ที่จะส่งเสริมความรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายทั้งนักเรียนและคุณครู ช่วยกันสร้างชุมชนปลอดไข้เลือดออก ซึ่งทาง กทม. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมจะสนับสนุนให้โครงการดังกล่าวให้บรรลุผลและเกิดประสิทธิผลอย่างสูงสุด
นายปีเตอร์ สไตรเบิล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่การลงนามในความร่วมมือเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการป้องกันโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย พันธมิตรได้บรรลุเป้าประสงค์ในการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องโรคไข้เลือดออกให้แก่ชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จำนวนกว่า 1,000 คน ในเขตมีการระบาดของไข้เลือดออกสูงผ่านกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้และการปฏิบัติจริงในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก
สำหรับโครงการฯ นี้ เรามุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักเรียนซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้อไข้เลือดออก ในการทำความเข้าใจเรื่องโรคและการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปต่อยอดและถ่ายทอดสู่โรงเรียนและชุมชนเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคนี้ โดยตั้งเป้าสนับสนุนการดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่มีการระบาดของไข้เลือดออกสูง พร้อมเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำเสนอโครงการในการป้องกันไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน และมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกันทำงานกับกรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย และสำนักการศึกษา เพื่อร่วมกันสร้างชุมชนปลอดไข้เลือดออก
นายยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงเป้าหมายในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่แพร่พันธุ์โดยยุงลายและสร้างภาระทั้งทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยโครงการฯ นี้จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของคาโอและพันธมิตรในการสร้างความตระหนักรู้และป้องกันโรคไข้เลือดออก รวมทั้งปกป้องอนาคตของเด็กไทยให้ปลอดภัยจากไข้เลือดออก ต้องขอขอบคุณพันธมิตรจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำงานเพื่อยกระดับและการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก เรารู้สึกภูมิใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้
เพื่อนำร่องโครงการฯ นี้ พันธมิตรได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเวิร์คช็อป ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะมอบความรู้ความเข้าใจกับน้องๆ นักเรียน และคุณครูกว่า 7,900 คน จาก 10 โรงเรียนนำร่องในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก รวมถึงวิธีการป้องกันตัวเองจากโรคไข้เลือดออกผ่านการควบคุมประชากรของลูกน้ำและยุงลาย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา การป้องกันและการควบคุมไข้เลือดออกในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยต่อจากนี้ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้ฝึกทักษะและใช้ความคิดในเชิงบูรณาการในการควบคุมปริมาณของลูกน้ำและยุงลาย เพื่อนำเสนอโครงการเข้าประกวดเฟ้นหา “สุดยอดโรงเรียนปลอดไข้เลือดออก” ต่อไป