WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
จัดพอร์ตให้ปัง สวนวิกฤตตลาดทุน

20 มีนาคม 2566 : จากประเด็นปัญหาของ Credit Suisse (CS) ที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนรอบสอง ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ 3 แบงก์ในสหรัฐฯปิดกิจการเพราะพิษดอกเบี้ยขาขึ้น สำหรับกรณีของ ธนาคารเครดิต สวิส – Credit Suisse เริ่มต้นจากปัญหาผลขาดทุนจากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาเรื่องงบการเงินที่อาจมีการล่าช้า จากประเด็นการควบคุมภายในด้านการรายงานตัวเลข แม้ช่วงที่ผ่านมาธนาคารจะมีการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างต่อเนื่อง และมีการเพิ่มทุนสำเร็จจำนวน 4.2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงสิ้นปี 2565

 

แต่ประเด็นความวิตกกังวลจากผลกระทบต่างๆ จาก Silicon Valley Bank รวมถึงข่าวจาก Saudi National Bank ที่ออกมาประกาศที่จะถือหุ้นไม่เกิน 10% จากเหตุผลด้านกฎหมาย ส่งผลให้ตลาดวิตกกังวลมากขึ้น โดยราคาหุ้นของ Credit Suisse มีการปรับตัวลดลง -24% และราคาตราสารอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ (CDS) ดีดตัวสูงขึ้น โดย 5-year CDS ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 4.42% (442 bps) สู่ระดับ 8.18% (818 bps) ในวันที่ 15 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา

ประเด็นดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญการลงทุนของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (KAsset) มองว่า Credit Suisse จะต้องมีการเพิ่มทุนเพิ่มเติม และเร่งการปรับโครงสร้าง รวมถึงการควบคุมภายในให้ดียิ่งขึ้นเพิ่มเติมจากการที่ธนาคารกลางเข้ามาช่วยเหลือ และมองว่ามีโอกาสที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์อาจมีการเพิ่มทุนให้ธนาคาร รวมถึงเข้ามาประกันเงินฝาก รวมถึงโอกาสที่ Credit Suisse จะขายกิจการบางส่วนเพิ่มเติม

ขณะที่ นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด กล่าวย้ำว่า หากปล่อยให้ Credit Suisse ล้ม จะส่งกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกแน่นอน เนื่องจาก Credit Suisse เป็นธนาคารใหญ่ระดับโลก มีสินทรัพย์รวมทั้งหมด 530 พันล้านสวิสฟรัง หรือ ประมาณ 19.6 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะบริษัทระดับโลกและกลุ่มผู้มีความมั่งคังสูงที่มีเงินฝากอยู่ใน Credit Suisse เป็นจำนวนมาก ทางธนาคารกลางสวิสฯได้ออกมาให้ความมั่นใจกับนักลงทุนและผู้ฝากเงินแล้วว่า หากมีความจำเป็นธนาคารกลางจะเข้าไปช่วยเหลือ Credit Suisse ทันที

ส่วนกองทุนรวมของไทยที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มยุโรปยังปลอดภัยดี โดยนายกสมาคมบริษัทจัดการการลงทุน (AIMC) นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ยืนยันว่า กรณี Credit Suisse จากการตรวจสอบเบื้องต้น ยังไม่พบว่ามีกองทุนรวมใดในอุตสาหกรรมเข้าไปลงทุนโดยตรงในหุ้น Credit Suisse แต่อาจจะมีเอี่ยวกับหุ้นดังกล่าวอยู่บ้าง ผ่านกองทุนหลักที่กองทุนรวมนั้นเข้าไปลงทุน ซึ่งอยู่ในสัดส่วนที่น้อยมาก ทำให้ผลกระทบจากหุ้น Credit Suisse ต่อกองทุนรวมของไทยไม่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่สถาบันการเงินไทยไม่มีธุรกรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ที่สำคัญปัญหาของเครดิต สวิสเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินไทยมีความแข็งแรง แต่ประเด็นดังกล่าวสร้างความอ่อนไหวต่อราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ของไทยต่อเนื่องเช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มแบงก์ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบทั้งจากกรณีการปิดสถาบันการเงินสหรัฐฯ 3 แห่ง

สำหรับมุมมองการลงทุนนั้น นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด หรือ ONEAM กล่าวว่า สถานการณ์การลงทุนปัจจุบัน ตลาดเริ่มให้น้ำหนักมากขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) อาจลดการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.25% ในการประชุมในวันที่ 21-22 มี.ค.นี้ คาดว่าเฟดอาจจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป หลังความไม่แน่นอนของภาคธนาคารเพิ่มสูงมากขึ้น

“ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ในตลาด จากความกังวลในภาคธนาคารที่เกิดขึ้น สะท้อนได้ว่าเฟดต้องใช้เวลาเพื่อพิจารณาถึงการดำเนินทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรอบคอบ มีเป้าหมายเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ รวมถึงรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน สถานการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อความผันผวนของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นและผลตอบแทนของตราสารหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายพจน์ กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบจะจำกัดเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กและธุรกิจที่มีสถานะทางการเงินที่อ่อนแอ การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอาจจะยังมี downside risk จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนปีนี้ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง มองว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 2567 ส่วนสถาบันการเงินไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เนื่องจากสภาพคล่องของธนาคารในไทยสูง ประกอบกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและการบริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุนที่ดี จึงไม่น่ามีความกังวลต่อระบบสถาบันการเงินและตลาดทุนไทย

สำหรับกลยุทธ์ลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (KAsset) แนะนำ เลือกภูมิภาคลงทุนที่เศรษฐกิจมีพัฒนาการที่ดี เช่น จีน เอเชีย แนะนำกองทุนหุ้นจีน เอเชีย และไทย และมีมุมมองและคำแนะนำการลงทุนต่อ ตลาดหุ้นยุโรป คาด ตลาดหุ้นยุโรปอยู่ในภาวะปรับฐาน หลังจากที่เป็นหนึ่งในตลาดที่ปรับตัวบวกได้ดีมาตั้งแต่ต้นปี นอกจากความกังวลในการชะลอเศรษฐกิจ และกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ถูกปรับคาดการณ์ลง เงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูงทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีความยากลำบากในการสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายเงินเฟ้อ และเป้าหมายเสถียรภาพของระบบการเงิน

พร้อมชะลอการลงทุนเพื่อประเมินสถานการณ์สำหรับผู้ที่ถืออยู่ พร้อมคำแนะนำลงทุนตลาดตราสารหนี้โลกต่อ ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อพันธบัตรรัฐบาล แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยที่ชะลอลงจะส่งผลดีต่อตราสารหนี้คุณภาพดี โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลของประเทศหลัก และการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เน้นการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดี ชะลอการลงทุนในตราสารหนี้ High Yield จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจชะลอ และความผันผวนในระบบธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักที่ลดลง 

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP