WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
จับตา..แบงก์ในสหรัฐฯล้ม กระทบถึงไทย?

13 มีนาคม 2566 : ท่ามกลางความตื่นตระหนกของผู้ฝากเงินเพียงช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ 2 แห่งในสหรัฐฯ ถูกสั่งการให้ปิดตัวลง หลังจากที่ต้องรับมือกับสถานการณ์การแห่ถอนเงิน (Silicon Valley Bank ปิดตัวลงในวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2566 และตามมาด้วย Signature Bank ในวันอาทิตย์ที่ 12 มี.ค. 2566) ทางการสหรัฐฯ ใช้มาตรการเด็ดขาด…เพราะมองว่า ปัญหาการแห่ถอนเงินจากแบงก์รอบนี้ไม่ใช่ปัญหาเล็ก เพราะอาจนำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบได้

อย่างไรก็ดี ทางการสหรัฐฯ (กระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐฯ หน่วยงานกำกับดูแล และบรรษัทประกันเงินฝาก หรือ FDIC) เร่งออกหลายมาตรการเพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่น สกัดความเสี่ยงเชิงระบบของภาคธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯ และเข้าดูแลกลุ่มผู้ฝากเงินและบรรเทาแรงกดดันต่อสถาบันการเงินอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นที่แน่นอนว่า รอบนี้ไม่มีสถานการณ์ Too Big to Fail เกิดขึ้น เพราะมีการปิดตัวลงจริงของสถาบันการเงินที่เผชิญปัญหา และไม่มีการใช้เงินของประชาชนผู้เสียภาษีของสหรัฐฯ ไปอุ้มสถาบันการเงิน เจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้น ซึ่งหลังจากนี้คงต้องมีการประเมินความสูญเสียและกระจายความรับผิดชอบต่อไป

ทั้งนี้ มาตรการที่ทางการสหรัฐฯ ผลักดันออกมาเน้นไปที่การดูแลผู้ฝากเงิน และสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์รอบนี้ มาตรการดูแลผู้ฝากเงิน...คลายข้อจำกัดด้านการคุ้มครอง โดยทางการสหรัฐฯ มองว่า ปัญหาของ Silicon Valley Bank และ Signature Bank สามารถเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบได้ เลยให้ผู้ฝากเงินทุกรายสามารถเข้าถึงเงินฝากของตัวเองได้นับตั้งแต่วันจันทร์ 13 มี.ค. 2566 ทั้งในส่วนของเงินฝากที่อยู่กับ Silicon Valley Bank และ Signature Bank เพื่อประคองความเชื่อมั่นโดยในส่วนนี้จะนำเงินจากกองทุนคุ้มครองผู้ฝากเงินที่ดำเนินการโดย FDIC

มาตรการจากธนาคารกลางสหรัฐฯ…ผ่อนปรนเกณฑ์เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน โดยมาตรการที่ดำเนินการโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมี 2 ส่วนที่เป็นตัวหลัก ได้แก่ ตั้ง Bank Term Funding Program (BTFP) เพื่อทำการปล่อยเงินกู้แบบมีหลักประกันอายุไม่เกิน 1 ปีให้กับธนาคาร และสถาบันการเงินอื่นๆ ที่เผชิญปัญหาด้านสภาพคล่อง และ/หรือจากเงินฝากไหลออก

ทั้งนี้ จุดที่สำคัญของโปรแกรมความช่วยเหลือนี้ คือ จะมีการคำนวณมูลค่าหลักประกันตามราคาพาร์ (ซึ่งจะลดปัญหา Mark-to-Market Loss ตามราคาตลาดในช่วงที่ดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น) โดยหลักประกันที่ใช้ในการค้ำประกันการกู้เงินจากเฟดนี้ จะต้องเป็นหลักประกันที่มีคุณภาพสูง อาทิ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตราสารหนี้ และตราสารที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ออกโดยหน่วยงานทางการสหรัฐฯ อาจจะมีการปรับลดเงื่อนไขของ Discount Window ซึ่งเป็นช่องทางการกู้เงินของสถาบันการเงินจากเฟด

อย่างไรก็ดี การกู้ผ่าน Discount Window จะมีระยะเวลาประมาณ 90 วันซึ่งสั้นกว่าโครงการ BTFP ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ แม้จะมีมาตรการจากทางการสหรัฐฯ ออกมาเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน สกัดความเสี่ยงเชิงระบบ และดูแลความเพียงพอด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงิน

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังคงต้องติดตามความชัดเจนว่าปัญหาแบงก์สหรัฐฯ ในรอบนี้จะลงลึกแค่ไหน และสถานการณ์ในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไรอย่างใกล้ชิด เพราะมาตรการของทางการดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนความสามารถในการทำกำไรของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง และไม่สามารถรับประกันได้โดยสมบูรณ์ว่าจะไม่มีสถาบันการเงินไหนที่สะท้อนความอ่อนแอออกมาอีกท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น

ผลกระทบต่อไทย…อาจต้องระวังความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน ขณะที่ผลกระทบโดยตรงต่อแบงก์ไทยน่าจะจำกัด

สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น แม้จะมีในบางมิติ แต่เหตุการณ์คงไม่เดินตามกรณีแบงก์สหรัฐฯ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองผลกระทบต่อไทยจากเหตุการณ์ความปั่นป่วนของแบงก์ในสหรัฐฯ ดังนี้

ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งคงปรากฏขึ้นในช่วงระหว่างทางที่ตลาดรอติดตามความชัดเจนและพัฒนาการของสถานการณ์ในระบบแบงก์ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของการเรียกคืนความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน (หลังจากที่ทางการสหรัฐฯ มีการออกมาตรการมาแล้วในระดับหนึ่ง) เพื่อประเมินท่าทีเชิงนโยบายของเฟดในระยะถัดไป ว่าจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจนไปใกล้ระดับ 6.00% ดังที่ตลาดการเงินทยอยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ นั่นหมายความว่า ค่าเงินบาทอาจยังแกว่งตัวในกรอบผันผวน (ซึ่งนับจากต้นปีที่ผ่านมา มีระดับความผันผวนสูงถึง 11-12%)

เช่นเดียวกับแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยที่ยังอาจเผชิญความเสี่ยงตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ สวนทางกับแรงหนุนต่อสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง เช่น ทองคำ ในกรณีที่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง นอกจากนี้ หากประเด็นความไม่แน่นอนในภาคการเงินการธนาคารและการชะลอตัวของตลาดบ้านของสหรัฐฯ ทำให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบระมัดระวังและลดท่าทีที่แข็งกร้าวลงมา ก็อาจทำให้เงินบาทผันผวนในกรอบที่แข็งค่าขึ้นได้

ผลต่อระบบแบงก์ไทย…ผลกระทบทางตรงจากแบงก์ทั้ง 2 แห่งที่ปิดตัวลงมีจำกัด

ผลกระทบทางตรงจำกัด เนื่องจากคาดว่า แบงก์ไทยน่าจะมีความเชื่อมโยง และ Exposure โดยตรงกับแบงก์สหรัฐฯ ทั้ง 2 แห่งที่ประสบปัญหาน้อยมาก หรือไม่มีเลย อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่นิ่ง ทำให้ยังคงต้องติดตามความชัดเจนของประเด็นต่างๆ ในช่วงหลังจากนี้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยังมีผลกระทบในส่วนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้บ้างท่ามกลางสภาพแวดล้อมอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อาทิ ผลกระทบจากการบันทึกผลขาดทุนจากการถือครองตราสารหนี้ตามราคาตลาด (Mark-to-Market) ในจังหวะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ทยอยปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นกับนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก

ยกตัวอย่างในปี 2565 ที่ผ่านมา แม้จะมีรายการบันทึกผลขาดทุนจากการถือครองตราสารหนี้เมื่อคำนวณตามราคาตลาด (MTM losses) กระนั้นก็ดี เพื่อรับมือกับทิศทางดังกล่าว แบงก์ในไทยก็มีการปรับกลยุทธ์การถือครองตราสารหนี้ให้มีอายุเฉลี่ยของตราสารลดลง (Shorten Duration) และ/หรือปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและทิศทางตลาดเงินตลาดทุนมากขึ้น (เพื่อจำกัดผลกระทบจากการ Mark-to-Market)

สถานะของแบงก์ไทยมีความมั่นคงกว่าในหลายมิติ ทั้งเรื่องสภาพคล่อง และความเข้มแข็งของเงินกองทุน ดังจะเห็นได้จากอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ของไทยที่อยู่ในระดับสูงเกินเกณฑ์ และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (% CAR) ของไทยที่สูงกว่าสหรัฐฯ โดยสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (% LCR) ของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ณ เดือนม.ค. 2566 อยู่ที่ 189.49% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด

ขณะที่เงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศก็อยู่ในระดับที่เข้มแข็งเช่นกัน โดยสัดส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นอยู่ที่ 18.98% สัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.93% และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 15.39% ซึ่งสูงกว่าสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นอยู่ที่ 15.16% สัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 13.69% และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 12.37%

โครงสร้างสินทรัพย์และเงินฝากของระบบแบงก์ไทยมีการกระจุกตัวน้อยกว่าแบงก์สหรัฐฯ ที่ประสบปัญหา โดยในกรณีของ Silicon Valley Bank ในสหรัฐฯ นั้น มีโครงสร้างฝั่งสินทรัพย์ในลักษณะที่มีสัดส่วนสินเชื่อน้อยกว่าพอร์ตเงินลงทุน (สินเชื่อสุทธิมีสัดส่วน 35% ของสินทรัพย์รวม ขณะที่พอร์ตเงินลงทุนในตราสารหนี้มีสัดส่วนสูงถึง 55% ของสินทรัพย์รวม) ขณะที่เงินฝากค่อนข้างกระจุกตัว เพราะมีที่มาจากลุ่มลูกค้าบริษัทเทคฯ VC และ Startups เป็นหลัก ซึ่งสำหรับกรณีของระบบแบงก์ไทยจะตรงข้ามกัน

โดยที่พอร์ตสินเชื่อสุทธิมีสัดส่วน 64% ของสินทรัพย์รวม และเป็นพอร์ตที่มีการกระจายตัวระหว่างสินเชื่อรายใหญ่ เอสเอ็มอี และรายย่อย ในอัตราส่วน 35.8%, 23.5% และ 40.7% ของสินเชื่อทั้งระบบ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ตามลำดับ อันถือว่าเป็นการกระจายตัวที่ดีกว่ากรณีแบงก์สหรัฐฯ ขณะที่ พอร์ตเงินลงทุนสุทธิรวมทั้งตราสารหนี้และตราสารทุนมีสัดส่วนประมาณ 11.7% ของสินทรัพย์รวม จากโครงสร้างพอร์ตสินทรัพย์ของแบงก์ไทยที่กระจายตัวและสมดุลกว่าทำให้สามารถสร้างกระแสรายรับที่มีความต่อเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อ และบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนฝั่งหนี้สิน โดยเฉพาะเงินฝากนั้น มีโครงสร้างที่ประกอบด้วยเงินฝากรายย่อย ธุรกิจ ภาครัฐ สถาบันที่ไม่แสวงหากำไร และอื่นๆ ในอัตราส่วน 55.3%, 26.7%, 7.4% 2.7% และ 6.3%ของยอดรวมเงินฝาก ตามลำดับ ซึ่งมีความสมดุลมากกว่ากรณีของ Silicon Valley Bank มาก และตามธรรมชาติของผู้ฝากเงินจะเน้นความมั่นคง มากกว่าการหาผลตอบแทน ดังนั้น เมื่อประกอบกับความมั่นคงในระดับสูงของแบงก์ไทย การบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม และการกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของทางการไทยร่วมด้วย จึงทำให้ความเสี่ยงจากการถูกถอนออก น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าแบงก์สหรัฐฯ ที่ประสบปัญหามาก

การลงทุนใน Startups ของแบงก์ไทย จะดำเนินการผ่าน Venture Capital ที่จัดตั้งขึ้น อีกทั้งมีวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีหรือธุรกิจใหม่ๆ ที่เกื้อกูลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแบงก์ในอนาคต มากกว่าจะเน้นมิติของการลงทุนเพื่อทำกำไร อีกทั้งอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลโครงสร้างและขอบเขตธุรกิจของกลุ่มธุรกิจการเงินโดย ธปท. ดังนั้น จึงทำให้น่าจะตีกรอบผลกระทบจากเหตุไม่คาดคิดได้ในอนาคต

โดยสรุป แม้กรณีปัญหาความอ่อนแอของแบงก์ในสหรัฐฯ (Silicon Valley Bank และ Signature Bank) น่าจะไม่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบในเวลานี้ ท่ามกลางความพยายามของทางการสหรัฐฯ ในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน รวมถึงปัญหาของทั้ง 2 แบงก์มีต้นตอมาจากความไม่สมดุลในโครงสร้างในพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สิน (Silicon Valley Bank เน้นกลุ่มลูกค้าเทคฯ Venture Capital และ Startups ขณะที่ Signature Bank เน้นให้บริการกับบริษัทที่ทำธุรกิจ Cryptocurrency)

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องถือว่าปัญหานี้ยังไม่สิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์ และมีประเด็นให้ติดตาม โดยเฉพาะในช่วงที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ยังเป็นขาขึ้น นอกจากนี้ เชื่อว่า ทางการสหรัฐฯ และตลาดคงจะทยอยติดตามสถานการณ์ของสถาบันการเงินอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุเปราะบางที่คล้ายคลึงกันขึ้นอีกในอนาคต สำหรับไทย ผลกระทบจะปรากฏทางอ้อมผ่านความผันผวนของตลาดการเงินมากกว่า ขณะที่ผลกระทบทางตรงจากแบงก์สหรัฐฯ ที่เผชิญปัญหาทั้ง 2 แห่งยังจำกัด

นอกจากนี้ ด้วยความที่แบงก์ไทยมีสถานะสภาพคล่องและความมั่นคงของเงินกองทุนที่มั่นคง รวมถึงมีการกระจายตัวของโครงสร้างสินทรัพย์และโครงสร้างเงินฝากที่ดีกว่า อีกทั้งพฤติกรรมลูกค้าแตกต่างจากสหรัฐฯ และที่สำคัญ ยังมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดและใกล้ชิดโดย ธปท. ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าแบงก์ไทยจะไม่เกิดเหตุการณ์ดังในกรณีสหรัฐ

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP