8 มีนาคม 2566 : การเคหะแห่งชาติ เร่งเครื่องดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงด้วยกระบวนการที่สำคัญ คือการปรับปรุง การพัฒนาอาคาร และการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนดินแดงให้มีสภาพแวดล้อมน่าอยู่อาศัย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยในชุมชนเป็นสำคัญ พร้อมปลูกจิตสำนึกให้ผู้อยู่อาศัยเกิดความรักและหวงแหนชุมชนของตน พร้อมร่วมแรง ร่วมใจกันพัฒนาชุมชนดินแดงให้ยั่งยืน
การเคหะแห่งชาติจึงจัดโครงการอบรมและศึกษาดูงาน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน หลักสูตร “การบูรณาการบริหารจัดการขยะ เครือข่ายเคหะชุมชนดินแดง” โดย นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มอบหมายให้ นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ อิงธาร รีสอร์ท จังหวัดนครนายก
นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาชุมชนดินแดง ปี 2562-2567 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การเสริมสร้างสุขอนามัย การจัดการชุมชน ที่อยู่อาศัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเรียนรู้การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการจัดการขยะที่ยั่งยืน และเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนได้นำแนวความคิดและความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปประยุกต์ใช้ต่อยอดในการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารสัจจะรีไซเคิล เคหะชุมชนดินแดง และกลุ่มคัดแยกขยะ เพื่อสวัสดิการชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้านผู้อยู่อาศัยในเคหะชุมชนดินแดงที่เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ “นางนงนุช บุญเย็น” กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับจากการอบรมในครั้งนี้คือ ราคาประเภทของขยะที่แตกต่างกัน และวิธีการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือว่าเป็นความรู้ใหม่ที่ได้จากการอบรบในครั้งนี้ พร้อมทั้งจะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้เพื่อนๆ ในชุมชน ก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนในภาพรวม สุดท้ายนี้ “ขอบคุณการเคหะแห่งชาติ ที่จัดโครงการอบรมในครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ถึงวิธีการคัดแยกขยะ จากที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ความรู้เหล่านี้เป็นประโยชน์มาก ๆ ทั้งกับตนเองและเพื่อนรอบข้าง ทำให้เราสามารถไปบอกเขา หรือให้ความรู้กับเขาได้
นางสาวสุนิษา สุวรรณรังษี ผู้อยู่อาศัยในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (อาคารแปลง G) กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาร่วมสัมมนากับการเคหะแห่งชาติ ได้รับประสบการณ์มากมายจากการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด ทำให้รู้ถึงวิธีแยกประเภทของขยะ และขยะแต่ละประเภทสามารถสร้างมูลค่าของตัวเองได้อย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มโลหะ ทองแดง สแตนเลส ทองเหลือง ตะกั่ว อลูมิเนียม ซึ่งราคาขึ้นลงตามราคาตลาด และผู้รับซื้อแต่ละรายให้ราคาที่แตกต่างกัน
“ขอขอบคุณการเคหะแห่งชาติที่จัดโครงการดี ๆ แบบนี้ขึ้น เรียกว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้สิ่งใกล้ตัวที่ไม่เคยรู้มาก่อน หลังจากนี้ก็จะนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเริ่มตั้งแต่การให้คนในครอบครัวคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และนำมาแยกทิ้งตามจุดคัดแยกขยะที่คณะกรรมการฯ ได้จัดเตรียมไว้ให้ในชุมชน ซึ่งจะทำให้ชุมชนเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความสะอาด ไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคใด และชุมชนก็จะน่าอยู่มากขึ้นค่ะ”
ว่าที่ร้อยตรีอัครวุฒิ วิชัยธรรมมาศ ผู้อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชนดินแดง 1 กล่าวว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ทำให้ได้รู้จักคนในชุมชนมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนะคติ รวมถึงการบริหารจัดการด้านขยะของแต่ละชุมชน ซึ่งนำไปสู่การสร้างเครือข่ายและเพิ่มพันธมิตรในการคัดแยกขยะในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต และสิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ ได้รู้จักการคัดแยกขยะในระบบ 3 Rs (Reduce Reuse Recycle) และยังได้รู้ว่าจะต้องคัดแยกขยะอย่างไรถึงจะสร้างมูลค่าให้กับขยะได้ และจะนำความรู้ที่ได้ไปบอกต่อเพื่อชักชวนให้คนในชุมชนมาเป็นสมาชิกกลุ่มธนาคารสัจจะรีไซเคิลเพิ่มขึ้น
“สิ่งที่ตนจะทำต่อจากนี้คือ นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปบอกต่อเยาวชนในชุมชนให้ตระหนักถึงวิธีการคัดแยกขยะเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงสามารถนำไปบอกต่อสมาชิกในครอบครัว เพื่อน ซึ่งสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมในภาพรวมอีกด้วย ต้องขอขอบคุณการเคหะแห่งชาติมากๆ สำหรับกิจกรรมดีๆ ในครั้งนี้ครับ” ว่าที่ร้อยตรีอัครวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย