27 กุมภาพันธ์ 2566 : นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สมาคมประกันชีวิตไทย คาดการณ์ว่าธุรกิจประกันชีวิตจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 612,500 – 623,500 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตระหว่างร้อยละ 0-2 มีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ ร้อยละ 81 – 82 ซึ่งการคาดการณ์ในครั้งนี้ก็ยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ GDP ของประเทศที่มีการขยายตัว ร้อยละ 2.7 – 3.7 (ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ปี 2566)
"ก่อนหน้านี้นานมากแล้วอุตสาหกรรมประกันชีวิต นำตัวเลขของ GDP มาตั้งเป็นธงนำว่าจะมีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมเป็นสองเท่าของ GDP แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่น แบบประกันสะสมทรัพย์ที่เคยเป็นสินค้าหลัก แต่วันนี้ขนาดของจำนวนกรมธรรม์นั้นไม่ได้ใหญ่เหมือนเดิม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้บริษัทประกันลดจำนวนการขายประกันแบบสะสมทรัพย์ลง เช่นแบบประกันชำระ 2 ปี คุ้มครอง 10 ปี หรือชำระเบี้ย 5,6,7 ปีคุ้มครอง 10 ปีเป็นต้น จึงลดน้อยลงไปโดยปริยาย ส่งผลให้ประกันสะสมทรัพย์ในปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโต -2.3
ถึงแม้ว่าประกันสุขภาพจะมีอัตราที่เติบโตมากขึ้นแต่ขนาดเบี้ยประกันก็ไม่สามารถมาทดแทนเบี้ยประกันสะสมทรัพย์ที่หายไปได้ ส่วนแบ่งทางการตลาดนั้นสำคัญแต่ไม่ใช่ทุกอย่าง บริษัทประกันต้องคำนึงถึงอายุของกรมธรรม์ในระยะยาวที่บริษัทประกันชีวิตต้องบริหารงานในภาวะผลตอบแทนน้อยมากๆ การขายเบี้ยใหม่เข้ามาสำคัญ แต่ต้องขายในแบบประกันที่มูลค่าตลอดสัญญาสอดคล้องกับการบริหารจัดการลงทุนด้วย ซึ่งความต้องการด้านประกันสุขภาพของคนไทยตอบโจทย์ด้านมิติของมูลค่าเบี้ยประกัน ถึงแม้ขนาดเบี้ยจะเล็ก บริษัทประกันต้องบริหารจัดการด้านสินไหมทดแทนให้ได้ ภายใต้ความพึงพอใจของลูกค้า" นายสาระ กล่าว
ส่วนทิศทางผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น ภาคธุรกิจมองว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่จะได้รับความนิยมและมีศักยภาพในการเติบโตสูง คือ ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และมีการบริการหลังการขายที่ครบวงจร (ทั้งระบบ online และ offline) เช่น telemedicine บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน (SOS) ฯลฯ โดยได้เชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกความต้องการและทุกกลุ่มเป้าหมาย
รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมองหาช่องทางการลงทุนใหม่ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้นภายใต้ระดับความเสี่ยงที่พอรับได้ รวมถึงได้รับความคุ้มครองจากการประกันชีวิตรวมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตาม สถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย (Yield Curve) แต่ที่ผ่านมาภาคธุรกิจได้เตรียมความพร้อมในการปรับพอร์ตทั้งในส่วนของการลงทุนและ Product mix และทิศทางกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตฐานกฎหมายสากล เช่น มาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS กฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ดังนั้น สมาคมประกันชีวิตไทย จึงมีแผนดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน เช่น การส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ ผลักดันกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์แบบอัตโนมัติ รวมถึงการผ่อนคลายการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมสนับสนุนการพัฒนากระบวนการขายให้ครบถ้วนทุกช่องทาง สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างครอบคลุม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยบริหารต้นทุนในระยะยาว
อีกทั้ง การสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนถึงการป้องกันและรู้เท่าทันเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างองค์ความรู้เพื่อป้องกันภัยจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี ซึ่งจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย รวมถึงการดำเนินงานเชิงรุกในการขอปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นปัจจุบัน ผลักดันระบบการจัดสอบความรู้ระบบออกใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้บริษัทสมาชิกและบุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน ทางด้าน นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ อุปนายกฝ่ายการตลาด สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเสริมว่า ทิศทางการลงทุนในยุคนี้บอกได้ว่า ใครมือยาวสาวได้สาวเอา คาดเดาได้ลำบาก เนื่องจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบสำคัญคือ ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเคลนมีผลกระทบกับทั่วโลกอย่างรุนแรง ซึ่งแรกๆ หลายคนบอกไกลตัวแต่ที่ไหนได้หลายเรื่องเช่น ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นและมีผลกระทบอย่างทั่วถึงทั่วโลก
ดังนั้น การลงทุนยุคนี้ท้าทายอย่างมาก คงจะมุ่งเน้นลงทุนกับสิ่งที่รู้จัก หากต่างชาติเขาแนะนำให้ไปลงที่ไม่รู้จักจะไม่ลงทุน เช่น คริปโต ก็ปิดไปแล้ว เป็นต้น ซึ่งการลงทุนมีความเสี่ยง ฉะนั้นธุรกิจประกันชีวิตเมื่อนำเงินของผู้เอาประกันมาบริหารจัดการยิ่งต้องระวังความเสี่ยงมากกว่าเงินส่วนตัวของเราอีก
นายสาระ กล่าวต่อไปถึง ภาพรวมผลงานของธุรกิจประกันชีวิตปี 2565 ระหว่าง มกราคม - ธันวาคม มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 611,374 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 0.45 เมื่อเทียบกับ ปี 2564 จำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 169,878 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 0.49 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 441,496 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 0.43 โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 82
สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย
1.) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 105,192 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.42
2.) เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 64,686 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 14.27
จำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้
1. การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 325,227 ล้านบาท อัตราการเติบโตร้อยละ 1.43 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.20
2. การขายผ่านช่องทางธนาคาร มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 235,788 ล้านบาทอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 3.39 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.57
3. การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 26,516 ล้านบาท อัตราการเติบโตร้อยละ 8.63 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.34
4. การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 13,981 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 2.04 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.29
5. การขายผ่านช่องทางดิจิทัล มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 1,738 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 29.11 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.28
6. การขายผ่านช่องทางอื่น เช่น การขาย Worksite, การขายผ่านการออกบูธ, การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 8,124 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 13.44 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.33
สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมในปี 2565 คือ สัญญาเพิ่มเติม (Riders) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคุ้มครองสุขภาพและโรคร้ายแรง ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวมสูงถึง 103,635 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.85 หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.95 มาจากการที่ประชาชนตระหนักถึงการดูแลและวางแผนเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถเปรียบเทียบข้อมูลและเลือกแบบประกันได้ตรงตามความต้องการด้วยความสะดวกรวดเร็ว และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) สามารถเติบโตได้ดีด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 15,741 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.72 หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.57