16 กุมภาพันธ์ 2566 : นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศฝั่งเอเชียที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าติดตาม จากการที่เป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และจีน ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นประเทศติดอับดับด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ โดยช่วงก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 ญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยหลักเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่มีสัดส่วนมากถึง 30%
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย ญี่ปุ่นได้เปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ประกอบกับได้รับแรงหนุนจากการคลายมาตรการคุมเข้ม Zero Covid-19 ของจีน ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก จึงยิ่งเป็นแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงมองว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นอย่าง Nikkei 225 index (NKY index) จึงอาจมีการเคลื่อนไหวและมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้
ทั้งนี้ บริษัทฯ มองว่าการลงทุนในดัชนี Nikkei 225 จะเป็นโอกาสการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อหาโอกาสรับผลตอบแทนส่วนเพิ่ม จากการลงทุนในสัญญาออปชั่น (Options) ที่อ้างอิงกับการเคลื่อนไหวของดัชนี Nikkei 225 และเป็นครั้งแรกที่รับผลตอบแทนเป็นสกุลเงินบาท (Quanto THB) จึงไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ที่สามารถใช้เสริมควบคู่ไปกับการลงทุนในตราสารหนี้ได้
บริษัทฯ ได้เปิดเสนอขาย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Double Structured Complex Return 1YH ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย หรือ กองทุน SCBDSHARC1YH กองทุน Complex Fund อายุ 1 ปี ที่มีนโยบายการลงทุนแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ (1) ลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีทั้งในและต่างประเทศ ในสัดส่วนร้อยละ 98.60 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (NAV) ที่จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุนเงินต้น และมีโอกาสการสร้างเงินลงทุนให้เติบโตจากผลตอบแทน/ดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
(2) ลงทุนในสัญญาออปชั่นที่อ้างอิงกับการเคลื่อนไหวของดัชนี Nikkei 225 อีกประมาณร้อยละ 1.40 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน สำหรับโอกาสการหาผลตอบแทนส่วนเพิ่ม จากการจ่ายผลตอบแทน แบบ double shark fin ตามเคลื่อนไหวของราคาดัชนี Nikkei 225 ที่ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงไม่เกิน 15% เมื่อเทียบกับราคาสินทรัพย์ ณ วันเริ่มต้นสัญญา ซึ่งจะทำให้มีโอกาสรับผลตอบแทนสูงสุดที่เป็นไปได้ อยู่ที่ 6.75%
จากการลงทุนกับกองทุนนี้ และหากราคาสินทรัพย์ระหว่างอายุสัญญาปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากกว่า 15% เมื่อเทียบกับราคาสินทรัพย์ ณ วันเริ่มต้นสัญญา ก็ยังมีโอกาสที่จะได้รับเงินผลตอบแทนชดเชยที่ 0.25% ได้ โดยกองทุนจะเปิดขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียวระหว่างวันที่ 14-27 กุมภาพันธ์ 2566 เริ่มต้นลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท
นางนันท์มนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า “สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นครั้งนี้ รวมถึงมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศในช่วงปลายปีที่แล้ว จะสะท้อนผลบวกต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นหลักของประเทศญี่ปุ่น อย่าง Nikkei 225 index ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทขนาดใหญ่กว่า 200 บริษัท ถึงแม้ว่า ญี่ปุ่นจะมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อภาคการส่งออก ดุลการค้าที่อาจมีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่องตามมูลค่าการนําเข้าพลังงานสูง เงินเฟ้อญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มทรงตัวระดับสูง และแนวทางนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในอนาคต หลังมีการเปลี่ยนผ่านผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน ที่กำลังจะหมดวาระ เป็นต้น
แต่ด้วยบริษัทที่อยู่ในตลาดฯ ส่วนใหญ่ มีการดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน ซึ่งเคยผ่านวิกฤตและสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา จึงเชื่อมั่นว่า จะพร้อมต่อการกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น เราจึงมองว่าการเข้าลงทุนนี้ จะเป็นส่วนเสริมของโอกาสการรับผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่นอกเหนือจากโอกาสการรับผลตอบแทนจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมาจากการเข้าลงทุนในกองทุนนี้ได้อย่างดี อีกทั้งกองทุนมีอายุเพียง 1 ปี จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องจากการลงทุน”