8 กุมภาพันธ์ 2566 : นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดเงิน โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามคาด จากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นตามการดําเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สะท้อนจากการจ้างงานและการบริโภคภาคเอกชนของทั้งสองประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี
โดยประเมินว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะผ่านจุดต่ําสุด ในปีนี้และขยายตัวดีในปี 2567 ด้านเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนในระยะสั้น แต่คาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะปรับดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 หลังสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียในระยะต่อไป
ตลาดการเงินโลก สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น (risk-on sentiment) จากอัตราเงินเฟ้อ สหรัฐฯ ที่ชะลอลงชัดเจน และการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด โดยนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศส่วนใหญ่ปรับลดลง ขณะที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับสูงขึ้น และมีเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับเข้ามาลงทุนสินทรัพย์ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียที่จะได้รับผลดีจากการเปิดประเทศของจีน
ภาวะการเงินของไทยผ่อนคลายลดลง อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดการเงินและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับนโยบายการเงิน ขณะที่อัตราผลตอบแทน พันธบัตรระยะยาวปรับลดลงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยรวมภาวะการเงินยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ที่ยังขยายตัว
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในอัตราที่ชะลอลง และการเปิดประเทศของจีนที่จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวไทย มองไปข้างหน้า ตลาดการเงินยังมีความไม่แน่นอน โดยต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลก ทิศทางการดําเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน
ส่วนทางด้านภาวะเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน โดย (1) ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วขึ้น จํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นปีละ 3.5 ล้านคน จากประมาณการ ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 มาอยู่ที่25.5 และ 34 ล้านคน ในปี 2566 และ 2567 ตามลําดับ และ (2) การบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากการจ้างงานและการกระจายรายได้ของลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีจํานวนมาก(ประมาณ 18.4 ล้านคน หรือร้อยละ 67 ของแรงงานนอกภาคเกษตรทั้งหมดในปี 2565) ขณะที่การส่งออก
สินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2566 แต่จะฟื้นตัวในปี 2567 โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ที่ต่ํากว่าคาดตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และส่วนหนึ่งจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในหมวด hard disk drive ที่ลดลงต่อเนื่องตามการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีไปสู่ solid state drive อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปีหน้าตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ําลดลงจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนเป็นสําคัญ โดยเฉพาะหากการระบาดของ COVID-19 ในจีนและข้อจํากัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศคลี่คลายได้เร็วอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานทยอยคลี่คลายตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง สะท้อนจากสัดส่วนสินค้าที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ลดลงตลอดช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565
ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่า จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่งก่อนจะทยอยปรับลดลง โดยการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อพื้นฐานไม่ได้กระจายตัวหรือเร่งขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จาก (1) การส่งผ่านต้นทุนอาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง รวมถึงมีความเสี่ยงที่ต้นทุนอาจปรับสูงขึ้นในระยะข้างหน้าจากการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน อีกทั้งราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกอาจปรับสูงขึ้นในกรณีที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเร็ว และ (2) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอาจส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทําให้ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวรวมถึงราคาในหมวดอาหารปรับเพิ่มขึ้นได้จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด