7 กุมภาพันธ์ 2566 : ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 5 ราย ได้แก่ (1) นายวิทวัส พรกุล (นายวิทวัส) (2) นายชนะ โตวัน (นายชนะ) (3) นางสาววิศรา พรกุล (นางสาววิศรา) (4) นางสาวอริสรา โตวัน (นางสาวอริสรา) และ (5) นางสาวอสมา โตวัน (นางสาวอสมา) กรณีขายหุ้นบริษัท ดีคอนโปรดักส์ จำกัด (มหาชน) (DCON) โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และกรณียินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตน โดยให้ผู้กระทำผิดชำระเงินรวม 2,983,040 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารกับผู้กระทำความผิดทั้ง 5 ราย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติม พบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการขายหุ้นโดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในของบุคคล 5 ราย เมื่อปี 2560 โดย (1) นายวิทวัส เป็นประธานกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ และกรรมการของ DCON และ (2) นายชนะ เป็นรองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการของ DCON ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานประจำปี 2559 ของ DCON ที่มีกำไรสุทธิลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากรายได้จากการดำเนินงานลดลงและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองค่าเผื่อการด้อยค่าเครื่องจักรที่ไม่ได้ใช้งานและการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ
รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2559 ในสัดส่วนที่ลดลงจากการจ่ายในหลายปีที่ผ่านมา โดยบุคคลทั้งสองได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในดังกล่าวจากการประชุมคณะกรรมการและ/หรือหารือที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภายหลังการล่วงรู้ข้อมูลภายในดังกล่าว นายวิทวัสได้ขายหุ้น DCON ของตนเองผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในชื่อ (3) นางสาววิศรา
ส่วนนายชนะได้ขายหุ้น DCON ของตนเองผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในชื่อ (4) นางสาวอริสรา และ (5) นางสาวอสมา ก่อนที่ DCON จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานประจำปี 2559 และการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2559 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 21.13 น. และเวลา 21.20 น. ทำให้นายวิทวัสและนายชนะสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมูลค่าหุ้น DCON ที่มีราคาลดลงภายหลังจากที่ DCON ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ
การกระทำของนายวิทวัสและนายชนะดังกล่าวข้างต้นเป็นความผิดฐานขายหุ้น DCON โดยอาศัยข้อมูลภายในตามมาตรา 242(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ส่วนการกระทำของนางสาววิศรา นางสาวอริสรา และนางสาวอสมา เป็นความผิดฐานยินยอมให้นายวิทวัส หรือนายชนะใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อปกปิดตัวตนของนายวิทวัส หรือนายชนะ ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามตามมาตรา 297 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ* กับผู้กระทำความผิดทั้ง 5 ราย ดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้
(1) ให้นายวิทวัส ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,729,268 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 14 เดือน
(2) ให้นายชนะ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,041,123 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 14 เดือน
(3) ให้นางสาววิศรา นางสาวอริสรา และนางสาวอสมา ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้นรายละ 70,883 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 4 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง