1 กุมภาพันธ์ 2566 : มร.โตโยทาเกะ คูวาตะ CEO บมจ. โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) แถลงผลประกอบการภาพรวมบริษัท ในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทมีผลประกอบการเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 2,072 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับปีต่อ 7,654 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยรับรวม 9,726 ล้านบาท มีสัดส่วนในช่องทางการขายผ่านตัวแทนซึ่งเป็นช่องทางหลักของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเบี้ยประกันภัยรับรวมเติบโตขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีทีผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีผลงานจากช่องทางประกันกลุ่มมีเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 1,603 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16 เปอร์เซ็นต์ เติบโตขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์ และช่องทางการขายอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วน 4 เปอร์เซ็นต์ มีเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 411 ล้านบาท
สำหรับในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าหมายภาพรวม เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 2,545 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับปีต่อ 8,882 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยรับรวม 11,427 ล้านบาทเติบโตขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์
“ผมขอขอบคุณ ลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์ทุกท่าน ที่ให้ความไว้วางใจใน บมจ. โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) จนสามารถทำให้ผลประกอบการของบริษัท เติบโตได้แม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันผวนอยู่ในขณะนี้ และผมเชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำของ คุณสมโพชน์ จะสามารถนำพา บริษัทฯ เติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต สำหรับทิศทางในการทำธุรกิจปี 2566 บริษัทมีแผนในการพัฒนาและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น” มร.โตโยทาเกะ คูวาตะ กล่าว
ดร. สมโพชน์ เกียรติไกรวัล ประธานที่ปรึกษาสำนักกรรมการผู้จัดการ และสายงานตัวแทน แถลงผลประกอบการ ช่องทางการขายผ่านตัวแทนของบริษัทมีการเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งโดยในปี 2565 ที่ผ่านมาช่องทางตัวแทนผลิตผลงานเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 1,772 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับปีต่อ 5,941 ล้านบาท รวมเบี้ยประกันภัยรับรวม 7,713 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 113 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีจำนวนตัวแทน 9,133 คน
ในปีที่ผ่านมาประกันสุขภาพเด็กช่วงอายุ 0-5 ปี มีอัตราการเคลมสูงมากกว่า 2,000 ล้านบาท แต่บริษัทก็จ่ายเคลมครบถ้วนไม่ได้มีปัญหาว่ามีลูกค้าร้องเรียน ดังนั้นปีนี้จะหาวิธีป้องกันในการพิจารณารับประกัน หรืออาจจะต้องเพิ่มเบี้ยประกันในบางเคส
สำหรับในปี 2566 ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยปีแรก 2,050 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับปีต่อ 6,970 ล้านบาท รวมเบี้ยประกันภัยรับรวม 9,020 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนตัวแทนให้ได้ 10,000 คน และตัวแทนที่มีใบอนุญาต IC License (Investment Consultant) ขณะนี้มีกว่า 100 คน ภายในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 500 คน บริษัทมีพอร์ตลงทุน 33,000 ล้านบาท ลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาล 83% หุ้น 4% ที่เหลือเป็นกองทุนอื่นๆ ผลตอบแทนเฉลี่ย 4%
“จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น พลังตัวแทนฝ่ายขายของโตเกียวมารีนประกันชีวิต ยังคงสามารถสร้างผลงานเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาสามารถทำลายสถิติในรอบ 13 ปี ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรับรวมมากกว่า 1,300 ล้านบาท เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงรากฐานความมั่นคง ความเป็นมืออาชีพในการสร้างและพัฒนาทีมงานฝ่ายขายให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย
โดยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนใหม่ที่ใช้ชื่อเรียกว่า Tokio Beyond ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบการลงทุนในประเทศไทย และเป็นบริษัทแห่งแรกที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ ที่ให้ประโยชน์สูงสุดกับผู้ถือกรมธรรม์ จุดที่เป็นความโดดเด่นของ Tokio Beyond คือ เป็นผลิตภัณฑ์ควบการลงทุนที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัย สำหรับเบี้ยประกันภัยหลักเพื่อความคุ้มครอง ซึ่งทำให้ลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์สามารถนำเงินส่วนของเบี้ยประกันภัยที่เหลือไปลงทุนได้มากขึ้น มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการนำผลิตภัณฑ์ประเภทสะสมทรัพย์อีกหลายตัว ซึ่งไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ Tokio Super Hero ที่ให้ผลตอบแทนการันตี IRR สูงสุดถึง 2.55% รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ประเภทคุ้มครองตลอดชีพเดิมกลับมาเปิดขายใหม่อีกครั้ง โดยปรับลดทุนประกันภัยขั้นต่ำลง เบี้ยประกันเริ่มต้น 12,000 บาท สามารถชำระเป็นรายเดือน ราย 3 เดือน หรือราย 6 เดือนได้ คาดว่าจะได้รับการตอบรับดีจากลูกค้าเช่นกัน โดยมอบหมายให้ บลจ. วรรณ (One Asset Management หรือ One AM) และบลจ.SCB บริหารกองทุน 17 กองทุน ” ดร.สมโพชน์กล่าว
นอกจากนี้ในปี 2566 นี้ บริษัทได้ยกระดับขีดความสามารถและภาพลักษณ์ตัวแทนโตเกียวมารีนให้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น เพื่อพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในยุคปัจจุบัน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างเครื่องมือที่เป็นตัวช่วยสนับสนุนการทำงานของตัวแทนให้คล่องตัวขึ้น อาทิ
1. ระบบการฝึกอบรมผ่านสื่อออนไลน์ Learning Management System (LMS) ช่วยให้ตัวแทนประกันชีวิตเข้ารับการฝึกอบรมโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่
2. TMLTH Connect แอปพลิเคชั่น ที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับงานด้านทะเบียนประวัติ เช่น การสมัครตัวแทน การขอรับขอต่อใบอนุญาต เป็นต้น
3. ระบบการสั่งซื้อสินค้าการตลาดออนไลน์ โดยให้บริการจัดส่งตรงถึงบ้าน
4. Agency Website โฉมใหม่ที่ทันสมัย ง่ายต่อการใช้งานต่างๆ เช่น แดชบอร์ดรายงานผลผลิต ฟังก์ชั่นบริการลูกค้า ดาวน์โหลดคู่มือหรือแบบฟอร์มต่างๆ เป็นต้น
5. Agency Activity Tracking ระบบติดตามการทำกิจกรรมของตัวแทน ที่ช่วยให้ผู้บริหารสามารถให้คำปรึกษางานได้อย่างเป็นระบบซึ่งรองรับทั้งด้านงานขายและการสร้างทีม กิจกรรมการแข่งขันในทีมงาน และการจัดการตารางนัดหมายผู้มุ่งหวังเพื่อไม่ให้พลาดทุกการติดต่อ