16 มกราคม 2566 : นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการใช้ที่ดินของ ธปท. เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ณ อาคาร 2 ธปท.
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับ ธปท. ว่าด้วยการใช้ที่ดินของ ธปท. เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยเป็นการใช้พื้นที่ของ ธปท. บริเวณริมรั้วด้านสะพานพระรามแปด และด้านถนนสามเสน เพื่อใช้สำหรับการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินไปยังสถานีรถไฟฟ้า และอาคารทางขึ้น - ลง ที่ 4 ของสถานีบางขุนพรหม รวมถึงใช้เป็นอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)
ที่ผ่านมา รฟม. ได้ประสานความร่วมมือกับ ธปท. และกรมศิลปากรอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การกำหนดรายละเอียดการก่อสร้างสถานีบางขุนพรหม และการใช้ประโยชน์พื้นที่ของ ธปท. ให้เหมาะกับบริบทพื้นที่ในเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้การก่อสร้างสำเร็จลุล่วงได้โดยไม่กระทบต่อภารกิจ หน้าที่ และการให้บริการของ ธปท. รวมถึงการบริหารจัดการการเดินรถของ รฟม. ในอนาคตด้วย ทั้งนี้ รฟม. จะดำเนินการก่อสร้างโดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งจะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างให้มีความสมบูรณ์ดังเดิมเมื่อโครงการแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ สถานีบางขุนพรหม เป็นสถานีใต้ดินสถานีที่ 5 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีรูปแบบสถานีเป็นแบบชานชาลาซ้อน (stack platform) ประกอบด้วยชั้นจำหน่ายตั๋วและชั้นชานชาลา 2 ชั้น โดยมีทางขึ้น - ลง จำนวนทั้งสิ้น 4 ตำแหน่ง โดย รฟม. จะกำกับดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปตามแนวทางความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงระหว่างสองหน่วยงาน ตลอดจนให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกให้กับ ธปท. จวบจนการก่อสร้างแล้วเสร็จ
นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธปท. กล่าวว่า ธปท. เล็งเห็นความสำคัญของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ที่นับเป็นโครงการสำคัญในการขยายเครือข่ายระบบขนส่งมวลชน ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับประชาชนและประเทศในอนาคต โดยจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็วเพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้ประกอบการตลอดแนวของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ และ ธปท. ยินดีที่จะร่วมมือกับ รฟม. ในการดำเนินงานก่อสร้างในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี โดยเป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร มีสถานียกระดับ 7 สถานี สำหรับแนวเส้นทางจะเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน)
นอกจากนี้ ยังมีสถานีที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ของ รฟม. เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้ใช้บริการ ได้แก่ สถานีสามยอดที่เชื่อมต่อกับ MRT สายสีน้ำเงิน และสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยอีกด้วย โดยเริ่มดําเนินงานก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 และมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2570
รฟม. มีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ที่จะพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางให้ครอบคลุม มีประสิทธิภาพและครบวงจร เป็นทางเลือกใหม่ของการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ รฟม.“ร่วมยกระดับเมืองด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”