5 มกราคม 2566 : นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือไทยรี เปิดเผยถึงทิศทางการประกันภัยต่อปี 2566 ว่า การต่อสัญญาประกันภัยต่อสำหรับปี 2566 อาจจะล่าช้าออกไป ซึ่งบริษัทประกันภัย (Retro Market) บางบริษัทยังต่อสัญญาไม่เสร็จเรียบร้อย (เดิมต้องต่อสัญญาเสร็จก่อนวันที่ 31 ธันวาคม และสัญญาใหม่จะเริ่มคุ้มครองต่อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป) ปัจจัยที่ส่งผลกระทบดังกล่าวเกิดจาก ต้นทุนของเบี้ยประกันปรับเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากภาวะเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น นั่นก็หมายถึงราคาที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นตามมา ดังนั้นบางบริษัทอาจจะรับความเสี่ยงได้เพียง 50-80% จากเดิมที่รับความเสี่ยงได้เต็มจำนวน 100%
อย่างไรก็ดี ทางด้านบริษัทประกันภัยก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที กรณีบริษัทรับประกันภัยต่อรับความคุ้มครองไม่ถึง 100% หรือรับได้เพียง 80% ส่วนอีก 20% บริษัทอาจจะต้องบริหารจัดการโดยรับความเสียงภัยไว้เองส่วนหนึ่ง เพื่อทำสัญญาต่อในปี 2566 ให้ได้
"กรณีที่บริษัทประกันภัยยังต่อสัญญาประกันภัยต่อไม่เสร็จเรียบร้อย ช่องว่างระหว่างนั้นจะไม่เป็นปัญหา เนื่องจากสัญญาการประกันภัยเกิดขึ้นมีผลบังคับใช้แล้ว เชื่อว่าบริษัทประกันภัยสามารถบริหารจัดการได้ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย แต่ยอมรับว่าในปีนี้บริษัทประกันภัยมีความยากลำบากในการหารีอินชัวเรอร์รายใหม่มารับประกัน เพราะเนื่องจากถูกผลกระทบจ่ายเคลมสูง รีอินชัวเรอร์หลายแห่งจึงต้องคัดสรรงานที่ดีมีกำไรมากขึ้น" นายโอฬารกล่าว
ท้้งนี้ จากการศึกษาตลาดประกันภัยต่อโลก ของบริษัท สวิสรีฯ ได้ข้อสรุปว่า ความสามารถในการรับประกันภัย (capacity insurance)ของตลาดโลก จะหายไปประมาณ 30% เนื่องจาก การขาดทุนจากการรับประกันภัยต่อ เนื่องจาก มีเหตุการณ์ที่ต้องจ่ายสินไหมหนัก เช่น เฮอริเคน "เอียน" ประเทศสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยมูลค่าความเสียหายสูงถึง 40,000-70,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือน้ำท่วมประเทศออสเตรเลีย จ่ายค่าสินไหม 4,000-5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 3. กระแสเงินสดหายไปจากการจ่ายสินไหมทดแทนข้างต้น จึงเป็นที่มาของหลายบริษัทรับประกันภัยต่อจึงยอมถอดใจที่จะรับประกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น บริษัทรับประกันภัยต่อ จึงขอปรับขึ้นราคา
"ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไซเคิลของประกันต่อส่วนใหญ่เป็นซอฟต์มาร์เก็ต ซึ่งจะมีฮาร์ดมาร์เก็ตอยู่เป็นช่วงๆ แต่ก็พักเดียวก็หมดไป แต่สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยปี 2554 ที่ผ่านมา กำลังในการรับประกันต่อของตลาดรีอินชัวเรอร์มีเยอะ ต่างเดินเข้ามาตั้งโต๊ะรับประกันในไทยกันเลย แต่สำหรับสถานการณ์ครั้งนี้ เป็นเรื่อง ความสามารถในการรับประกันหดตัวลง ดังนั้นเขาจึงปรับราคา คัดสรรงานที่มีคุณภาพมากขึ้น บริษัทประกันภัยจึงมีต้นทุนที่สูงขึ้นตาม ยกตัวอย่างบางบริษัทในแถบเอเชียบางแห่ง อาจจะต่อสัญญาไม่ได้ก็มี จึงต้องปรับไปใช้วิธีการรับประกันภัยความเสียหายส่วนแรก (Excess of loss reinsurance) ร่วมด่วย เช่นรับเสี่ยงภัยเอง 10-20% อีก 80% ส่งให้กับรีอินชัวเรอร์ เป็นต้น"
นายโอฬาร กล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณาถึงผู้เอาประกันภัยก็จะได้รับผลกระทบที่ถูกปรับราคาเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นแน่นอน แต่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ (Commercial Line) รองลงมาก็เป็นลูกค้ารายบุคคล (Personal Line) ดังนั้น การประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ที่ถูกผลกระทบด้านเงินเฟ้อจะมีโอกาสถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว หรืออาจจะเป็นเลข 2 หลัก
ไทยรีฯ ยกเครื่องปรับโครงสร้างบริษัทย่อย 4 แห่ง
ดันบริษัท บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป เข้าตลาด MAI ไตรมาสแรกปี 66
นายโอฬาร กล่าวต่อไปถึงความคืบหน้าบริษัทย่อย 4 แห่ง ที่ไทยรีถือหุ้น 100% ได้แก่ บริษัท อีเอ็มซีเอส จำกัด (EMCS : Electronic Motor Claim Solution) พัฒนาระบบบริหารจัดการธุรกิจประกันภัย, บริษัท ทีป้า จำกัด (TPA) บริการด้านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน บริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทนในธุรกิจประกันสุขภาพ, บริษัท ไทยรี แอคชัวเรียล จำกัด ให้คำปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย และ บริษัท ไทยรี อินโนเวชั่น จำกัด ให้บริการนวัตกรรมสารสนเทศ
โดยจะมีการเปลี่ยนชื่อ บริษัท อีเอ็มซีเอส จำกัด (EMCS : Electronic Motor Claim Solution) ให้เป็น บริษัท บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (Blue Venture Group : ฺฺBVG) ซึ่ง บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป จะเข้าถือหุ้นอีก 3 บริษัทข้างต้น 100% แทนไทยรี หลังจากนั้นจะนำ บริษัท บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) ในกลุ่มเทคโนโลยี เสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 157.5 ล้านหุ้น (ยังไม่ได้กำหนดราคาขาย IPO ) กำหนดราคาพาร์ ไว้ที่หุ้นละ 50 สตางค์ คาดว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 นี้