4 มกราคม 2566 : นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันชีวิตในปี 2565 หลังจากที่โรคอุบัติใหม่ หรือ โควิด-19 เริ่มซาลงมีผลกระทบหลายประการ กล่าวคือ เรื่อง เศรษฐกิจ เนื่องจากเงินเฟ้อทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น เห็นได้จากบริษัทประกันชีวิตเริ่มทยอยนำสินค้าแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance) กลับเข้ามาขายมากขึ้น ซึ่ง 5-6 ปีที่ผ่านมาแบบประกันที่ขายส่วนใหญ่จะเป็นประเภทความคุ้มครอง (Protection lnsurance) เป็นหลัก
แต่ช่วงปลายปี 2565 ต้องยอมรับว่ามีการผันแปรเรื่องเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาวะสงคราม ส่งผลให้เงินเฟ้อมีอัตราที่สูงขึ้น ดังนั้นการผันแปรของหน่วยลงทุนจึงมีผลกระทบกับแบบประกันยูนิตลิงค์ (Unit link) เป็นหลัก โดยส่งผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 จน ถึงครึ่งปีแรก 2565
ทั้งนี้ ในมุมของประชาชนเองก็มีความระมัดระวังในการลงทุนซึ่งก็เห็นว่ายอดการทำประกันแบบชำระครั้งเดียว ( Single premium) ของ unit link ที่ขายผ่านช่องทางธนาคารหรือตัวแทนประกันชีวิตก็ลดน้อยลงมาเช่นกัน
แต่ถึงกระนั้นกรมธรรม์ยูนิต ลิงค์ก็ยังขายในรูปแบบของ เบี้ยประกันภัยหลัก Regular Premium แบบไซด์ขนาดเล็กลงซึ่งขายควบกับประกันสุขภาพ หรือเน้นไปทางด้านแบบประกันคุ้มครอง (protection) เป็นหลัก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยอดเบี้ยธุรกิจประกันชีวิตรายใหม่เติบโตลดลง
ประกันสุขภาพเป็นธงนำธุรกิจปี 66
ส่วนด้านประกันสุขภาพ ตั้งแต่เริ่มก่อนโควิด จนถึงโควิด และปัจจุบันมีอัตราเติบโตก็ประมาณ 8-9% เนื่องจากคนให้ความสำคัญมาโดยตลอดและให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทประกันเองก็ทยอยออกแบบประกันสุขภาพมาใหม่ๆ ที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทิศทางของสินค้าประกันสุขภาพยังเป็นธงนำในขณะนี้และในอนาคต
นายสาระกล่าวต่อไปว่า ด้วยปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้จำนวนเบี้ยประกันต่ออายุลดลงมาก เนื่องจาก ผลตอบแทนชดเชยความเสี่ยง จากอายุของหลักทรัพย์ MRP : Maturity risk premium กับ การประกันชีวิตใช้เงินสำเร็จลดเงินเอาประกันภัย (REDUCED PAID-UP INSURANC) หรือแบบประกันที่ครบอายุสัญญา ทยอยครบอายุสัญญากรมธรรม์ โดยแบบประกันประเภทนี้มีเบี้ยประกันสูง แต่ให้ความคุ้มครองระยะสั้น 7 ปี เป็นต้น จึงเป็นผลให้เบี้ยประกันต่อในระบบหายไป
ดังนั้น ถึงแม้บริษัทประกันหันมาขายแบบสะสมทรัพย์ เพิ่มเข้ามาชดเชยเบี้ยประกันในจำนวนดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถชดเชยกันได้ กับแบบ MRP กับ PAID-UP เนื่องจากแบบสะสมทรัพย์เบี้ยประกันไม่สูงมากแต่ความคุ้มครองยาว 10 ปี 20 ปี ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เบี้ยประกันต่ออายุลดลง
ส่วนผลกระทบด้านมิติของการจ่ายเบี้ยหรือกำลังซื้อของประชาชน ณ ปัจจุบันยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนมากนักแต่หากพิจารณาตัวเลขเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่จากสมาคมประกันชีวิตไทย ธุรกิจโดยรวมยังมีอัตราที่เติบโตแต่ภาพรวมตัวเลขยังติดลบอยู่ ซึ่งเดือนตุลาคม ในปี 2565 ที่ผ่านมาก็ยังติดลบอยู่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น คาดว่าสิ้นปี 65 จะเติบโตอยู่ประมาณ 0-2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเดือนธันวาคม 65 ควรจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเยอะ แต่ปีที่แล้วพฤศจิกายนกับธันวาคมเติบโตลดลงเพราะเป็นปีที่โควิด
"นายสาระกล่าวว่า ธุรกิจประกันชีวิตไม่เหมือนธุรกิจอื่นที่มันเป็นการขายแล้วก็เอาเบี้ยมาหักต้นทุนแล้วเป็นผลกำไรแต่ธุรกิจประกันชีวิตมีผลในระยะยาวแบบประกันบางแบบประกันยาวมากถึง 99 ปี ดังนั้นการบริหารธุรกิจประกันชีวิตต้องมีกระบวนการพิจารณาในหลายมิติ ได้แก่ 1. ยอดขาย จากอดีตที่มุ่งแข่งขันด้านนี้ แต่ปัจจุบันมีปัจจัยอื่นเสริมเข้ามาประกอบเช่น การบริการ 2. มูลค่าของกรมธรรม์ประกันชีวิต เช่น แบบประกันสะสมทรัพย์ 99/20 ชำระเบี้ย 20 ปีคุ้มครองถึงอายุ 99 มูลค่าดังกล่าวเรียกว่า ความคุ้มค่าทางธุรกิจ (new business value : nbv) ซึ่งบริษัทประกันชีวิตให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก หลายๆ ครั้งที่ขายกรมธรรม์แบบนี้มาแต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งไม่ขายแบบประกันสะสมทรัพย์ต่อ เพราะเมื่อพิจารณาแล้วมูลค่าตลอดอายุสัญญาระยะยาว ในอนาคตอาจจะมีผลตอบแทนที่ติดลบได้
3.การบริหารการจัดการต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคอุบัติใหม่ก็ดี ที่เพิ่งเกิดขึ้นตอนนี้ก็ 3 ปีแล้วเรื่อง ความแตกต่างระหว่างวัย ( generation ship) เรื่อง ความคิด (mindset) ประชาชนเข้าใจประกันเปิดรับประกันมากขึ้นใช้เครื่องมือแบบดิจิทัลเข้ามามากขึ้น รวมไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ เช่น มาตรฐานแบบประกันสุขภาพรูปแบบใหม่ ซึ่งก็มีมิติในการบริหารจัดการ รวมถึงเรื่องของอัตราผลกำไร ผู้ถือหุ้นจะต้องขออนุญาตจากคปภ.ก่อนที่จะจ่ายเงินปันผลกำไร ซึ่งประกอบกับมาตรฐานบัญชี IFRS 17 และ TFRS9 ที่จะเริ่มใช้ในปี 2025 บริษัทประกันต้องเตรียมพร้อม
ทิศทางประกันชีวิตปี 2566
นายสาระ กล่าวต่อไปถึง ทิศทางประกันชีวิตปี 2566 ว่า สินค้าของประกันชีวิตก็ยังคงเน้นในหลากหลายแบบแต่น้ำหนักจะเน้นในเรื่องของ ประกันที่มีความคุ้มครอง (protection) เช่นเดียวกับ ทิศทางของ 6-7 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงประกันสุขภาพก็จะเป็นดาวเด่นซึ่งก็เป็นดาวเด่นมาตลอดตั้งแต่ก่อนโควิดปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ ทิศทางการรับประกันก็จะเน้นการให้บริการมากขึ้นซึ่งการแข่งขันด้านราคาก็อาจจะยังอยู่แต่ผู้เอาประกันปัจจุบันมีความรู้มากขึ้นเบี้ยประกันแพงกว่านิดหน่อยแต่การบริการดีกว่ามากเขาอาจจะเลือกแบบนั้น
ส่วนทางด้าน สินไหมทดแทน ปี 2565 คิดว่าจะหนักกว่าปีที่ผ่านมา 2564 เพราะโควิดก็ยังมีอยู่และค่าสินไหมทางด้าน การรักษาพยาบาลแบบปกติ เช่นการเข้าไปเคลมใหญ่ๆ หรือว่ามีการผ่าตัด เป็นการรักษาตัวที่ไม่สามารถรอได้ เนื่องจากติดสถานการณ์โควิดซึ่งสินไหมกลุ่มนี้ก็จะผุดขึ้นมาปีนี้มากขึ้นเยอะ
นายสาระกล่าวต่อไปถึง เรื่องกฎหมายประกันสุขภาพรูปแบบใหม่ (new health standard) ที่ประเด็นสำคัญเมื่อบริษัทประกันรับทำประกันแล้วไม่สามารถยกเลิกได้นั้น ต่อเรื่องดังกล่าว มีความเห็นว่า ปัจจุบันบริษัทประกันภัยมีความเปลี่ยนแปลงไปเยอะเรื่อง บริษัทประกันกล้าที่จะเข้าไปรับความคุ้มครองมากขึ้น เปิดตัวออกมาจากกรอบมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนจำกัดอายุในการรับประกันสุขภาพเพียงแค่ 65 ปี มากที่สุด แต่ปัจจุบันขยายได้ไปถึงอายุ 90 ปี ที่สามารถซื้อประกันสุขภาพได้แล้ว ซึ่งเมืองไทยประกันชีวิตยังขยายไปถึงอายุ 99 ปี
โดยจะเห็นได้ว่าทิศทางของการประกันสุขภาพทุกวันนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ซึ่งเด็กรุ่นใหม่มีความเข้าใจมากขึ้น เปิดใจเดินเข้ามาซื้อรวมถึงการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ และ แบบออฟไลน์ ส่วนใหญ่เป็นประกันสุขภาพ ดังนั้นประกันสุขภาพก็ยังเป็นช่องแทนช่องทางหลักทั้งช่องทางตัวแทนนายหน้า รวมถึงช่องทางเทเลมาร์เก็ตติ้งหรือตลาดแบบตรง ส่วนช่องทางดิจิตอลแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือแบบแรกขายผ่านระบบ ไม่ต้องเจอคน เป็นแบบเบี้ยประกันขแบบนาดเล็ก ราคาไม่แรง เข้าใจง่าย สามารถที่จะตัดสินใจซื้อได้ทันที หรือแบบมุ่งเน้นคนตัวเล็ก ที่เราเพิ่งออกก็คือเบี้ยประกัน 200 บาทคุ้มครองโรคร้ายแรง เป็นต้น
ส่วนแบบที่ 2 การขายแบบ hybrid โดยเรียนรู้ผ่านระบบในเบื้องต้น แล้วขอรายละเอียดภายหลังจากบุคลากรที่มีความชำนาญ ซึ่งการขายแบบนี้ได้รับการตอบรับที่ดีกว่า เนื่องจากสามารถตอบข้อซักถามที่สงสัยในกรมธรรม์ได้ ซึ่งแบบประกันส่วนใหญ่จะเป็นเบี้ยประกันขนาดใหญ่
การบริหารงานที่ท้าทายปี 2566 ในมุมมองของ CEO
นายสาระ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้คนกลัวและไม่กล้าที่จะเจอคน บริษัทฯ จึงจัดทำแพลตฟอร์มดิจิตอล mtl click ให้หันมาใช้ในรูปแบบของดิจิตอลแทน ผลปรากฏว่า ได้รับการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ รวมถึงการตอบโจทย์ของคนบางกลุ่ม บางเจนเนอเรชั่นที่ชอบบริการแบบนี้
ส่วนการบริหารงานธุรกิจประกันต้องพิจารณาในหลากหลายมิติ ซึ่งจะมุ่งเน้นแข่งขันด้านเบี้ยประกันเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาองค์รวม ทั้งจาก ความคุ้มค่าทางธุรกิจ (new business value : nbv) ประกอบกับเรื่อง ความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทฯ (Capital Adequacy Ratio : CAR) รวมถึงมิติของการบริหารต้นทุนจะปรับเปลี่ยนอย่างไร ตลอดจนการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมาก ในมุมมองของ CEO ไม่ได้เป็นเรื่องของกลยุทธ์ (strategy) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เติมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ต้องควบคุมไม่ให้มันเกินไปหรือว่าอย่าให้ไกลเกินไป เพราะมากเกินไปมันอาจจะเต็มมือ หรือว่าไกลเกินไปมันก็อาจจะไม่ใช่ไทม์มิ่งที่ใช่
"เพราะฉะนั้นการบริหารเรื่องต้นทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ และสิ่งสำคัญมากที่สุดก็คือเรื่อง "คน" เราได้ยินแต่เรื่องเปลี่ยนแปลง ( transform) จะปรับอย่างไร รวมไปถึงเรื่อง ความพึงพอใจเฉพาะตัว (personal life) ควรจะทำอย่างไรสิ่งเหล่านี้ เรื่องของ big data จะเข้ามามีส่วนสำคัญประเด็น คือ ต้องมีข้อมูลที่ใช่มีแบบที่ใช่ แต่หากมีข้อช่องโหว่ว่าคนขายหรือตัวแทนไม่สามารถ advice ได้แต่ก็ไม่มีอะไรเพราะปัจจุบันนี้โลกมันกลับข้าง จากเดิมบริษัทผลิตกรมธรรม์เพื่อนำออกไปขายให้ประชาชน แต่ปัจจุบัน แบบประกันต้องมาจากความต้องของผู้เอาประกันข้างนอก แล้วตีกลับเข้ามาข้างในพัฒนาให้ตรงตามความต้องการเขามากที่สุด ตลอดจนเรื่องการบริการที่ดี รวมถึงเทคโนโลยี content และความพร้อมของคนในองค์กรที่จะสามารถปรับตัวได้ในทุกมิติ
ดังนั้น ปีหน้า 2566 ก็อาจจะเป็นปีที่น่าตื่นเต้น หากถามว่ายากหรือเปล่า คือ "ยาก" ทุกปีเพราะโจทย์ไม่เคยเหมือนเดิม แต่เรื่องของเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งแน่นอนที่มีผลกระทบอย่างปฏิเสธไม่ได้" นายสาระกล่าว
ปรับแนวคิดการประกันบำนาญรูปแบบใหม่
ทางสมาคมประกันชีวิตไทย มีการหารือกันเป็นระยะ เรื่อง การประกันแบบบำนาญ ควรจะมีทางเลือกในการได้รับเงินบำนาญอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถกำหนดถึงความต้องการที่อยากจะมีรายได้ต่อเดือนเท่าไหร่ โดยอาจจะจ่ายเป็นแบบรายเดือนหรือเงินก้อนบางส่วน รวมถึงมีแนวคิดที่จะต่อยอด บำนาญสามารถที่จะไปใช้ในกระบวนการจัดการอัตโนมัติ (Trigger home) หรือกลุ่ม independent living ได้มากขึ้น ซึ่งแบบประกันบำนาญไม่ควรจะกำหนดว่าเกษียณอายุ 55 ปี หรือ 65 ปี ควรจะปล่อยเสรี เนื่องจากปัจจุบันคนอายุยืนยาวขึ้น ซึ่งบางคนอายุ 65-70 ปี ยังมีความรู้ความสามารถที่ทำงานได้
แต่เนื่องจากกรมธรรม์ปัจจุบัน กำหนดอายุของผู้รับบำนาญไว้ที่ 55- 60 ปี ซึ่งเรื่องดังกล่าวเมืองไทยประกันชีวิตจึงขยายอายุออกไปให้ถึง 65 ปีเจ้าแรก ดังนั้นแบบประกันบำนาญถ้าจะมีผลจริงๆ ไม่ควรจะปล่อยเงินให้ออกระหว่างทาง เนื่องจากปลายทางสัญญาจะไม่ได้เงินบำนาญเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามสัญญากรมธรรม์
เร่งให้ความรู้ประชาชนไม่ให้หลงเชื่อ “ยกเลิกกรมธรรม์”
"ปัจจุบันนี้ สิ่งที่น่ากังวล คือ มีกลุ่มคนที่โทรเข้ามาหาผู้เอาประกันภัยแล้วก็จะมาขอวิเคราะห์แบบประกันให้ จนชักชวนให้ยกเลิกกรมธรรม์เดิมแล้วไปทำประกันใหม่ซึ่ง เรื่องนี้จะต้องให้ความรู้กับผู้เอาประกันอย่างมากๆ เพราะจริงๆ แล้วกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีมูลค่าเงินสดนั้นมีค่า ดังนั้น หากจะตัดสินใจไปยกเลิก ควรจะปรึกษากับบริษัทฯ ก่อน เพราะนั่นอาจจะเป็นผลเสียต่อผู้เอาประกันเอง ที่เสียผลประโยชน์มากกว่า เนื่องจากเมื่ออายุเปลี่ยน เบี้ยประกันก็สูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะฉะนั้นต้องสร้างองค์ความรู้ให้คนไทยอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ถูกชักจูงไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง" นายสาระกล่าวสรุป