28 ธันวาคม 2565 : “คน” ถือเป็นทรัพยากรและทรัพย์สินที่มีค่าสำหรับองค์กร การที่องค์กรจะขับเคลื่อนสร้างการเติบโตได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ “คน” เป็นสำคัญ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้เป็น “คนเก่ง” ที่เป็นผู้รอบรู้และรู้รอบ ขณะเดียวกันยังต้องเป็น “คนดี” มีคุณธรรม จริยธรรม มโนธรรม และเป็นผู้ให้ เพื่อให้บุคลากรมีความพร้อมที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ “การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน”
ขณะเดียวกันไทยประกันชีวิตตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับบริษัทฯ และสังคมไทยไปพร้อมๆ กัน ด้วยการส่งเสริมบุคลากรของบริษัทฯ ให้มีจิตอาสา พร้อมบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์ ตลอดจนมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการเสริมสร้างบุคลากรให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี ที่พร้อมอยู่เคียงข้างลูกค้าและสังคมไทย
และในฐานะบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของคนไทยที่ดูแลคนไทยมาครบ 80 ปี ในปี 2565 จึงได้ส่งเสริมให้บุคลากรของบริษัทฯ มีส่วนร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม ผ่านโครงการไทยประกันชีวิตจิตอาสา แบ่งรูปแบบกิจกรรมออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาที่ทำด้วยตนเอง กิจกรรมที่บริษัทฯ จัดขึ้น และกิจกรรมจิตอาสาสร้างสุข โดยปัจจุบันมีบุคลากรเข้าร่วมเป็นไทยประกันชีวิตจิตอาสา จำนวน 2,064 คน
สำหรับกิจกรรมอาสาสร้างสุขเป็นกิจกรรมแบบ Co-Creation ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรสำนักงานใหญ่และสาขา รวมถึงฝ่ายขาย คิดริเริ่มดำเนินกิจกรรม ภายใต้แนวคิด Better Life & Green Life ส่งต่อการ “ให้” และ “ดูแล” มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่คนในชุมชนและสังคม ตลอดจนรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพื่อมุ่งส่งเสริมและปลูกจิตสาธารณะให้เกิดแก่บุคลากร และเกิดความร่วมมือร่วมแรง กระชับความสัมพันธ์อันก่อให้เกิดความสามัคคีระหว่างคนในองค์กร ตลอดจนยังสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรและชุมชน
โดยตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากบุคลากรไทยประกันชีวิตจิตอาสาที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมทั้งสิ้น 41 กิจกรรม อาทิ กิจกรรมปลูกป่า กิจกรรมทะนุบำรุงศาสนา กิจกรรมปรับปรุงภูมิทัศน์สถานที่ กิจกรรมพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน เป็นต้น
ไทยประกันชีวิตดำเนินธุรกิจด้วยตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต คุณค่าของความรัก และคุณค่าของมนุษย์ ผ่านการปลูกฝัง ถ่ายทอด และส่งต่อแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นในใจบุคลากรขององค์กร ซึ่งนอกจากจะสร้างความสุขให้แก่คนในสังคมแล้ว ยังสร้างความสุขให้แก่ตนเองในฐานะ “ผู้ให้” อันเป็นการสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง และร่วมส่งต่อคุณค่าให้กับสังคมไทย