28 พฤศจิกายน 2559 :ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM ชี้รัฐคลอดมาตรการช้อปช่วยชาติลดหย่อนภาษี 30,000 บาท ไม่ตอบโจทย์ระยะยาว แนะเร่งโครงสร้างเพิ่มฐานพร้อมดึงนักลงทุนจากจีนย้ายฐานการผลิตมาตั้งในประเทศไทยเพื่อเป็นฐานการส่งออก หลังจีนโดนกำแพงภาษีกีดกันการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ เชื่อจะช่วยสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า!!!
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานะรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับนักบริหาร (MPPM Executive program) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า การที่กระทรวงการคลังเสนอนโยบายการลดหย่อนภาษีด้วยการออกมาตรการช้อปช่วยชาติ ที่ขยายวงเงินการนำมาลดหย่อนภาษีจากเดิม 15,000 บาท เพิ่มเป็น 30,000 บาท แม้จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนให้เกิดขึ้นแต่จะเป็นเพียงผลในระยะสั้นและไม่มีความยั่งยืน
เนื่องจากการกำหนดเวลาเพื่อจับจ่ายซื้อสินค้าเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีนั้นเป็นเพียงการเลื่อนเวลาให้เกิดการซื้อสินค้าในช่วงเวลาดังกล่าวมากเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดเม็ดเงินใหม่ในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว จะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อย และมีสินค้าเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้ เช่น โทรศัพท์มือถือและยานพาหนะ ซึ่งเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศทั้งสิ้น
ทั้งนี้ การดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ได้ผลในระยะยาวนั้น ภาครัฐควรเร่งดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้รวมถึงบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีกว่าการออกมาตรการช้อปช่วยชาติ เนื่องจากขณะนี้ภาคการผลิตของไทยได้ส่งสัญญาชะลอตัว ด้วย Capacity Utilization ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 64.89 ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตและการลงทุนของไทยยังรอปัจจัยเชิงบวกที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโต
ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน MPPM NIDA กล่าวว่า นอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐแล้ว ประเทศไทยยังต้องฉวยโอกาสที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐจะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนสูงถึง 45% ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศจีนจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี
ดังนั้นไทยจึงควรใช้ช่วงเวลานี้ในการดึงดูดนักลงทุนและภาคการผลิตของประเทศจีนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งหากไทยได้กลายเป็นฐานการผลิตสินค้าให้แก่ประเทศจีนเพื่อป้อนตลาดโลกแล้วนั้น ย่อมส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการสร้างงานที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และนับเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้ในที่สุด
“ในอดีตไทยเคยประสบความสำเร็จในการดึงนักลงทุนชาวญี่ปุ่น มาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยมาแล้ว หลังจากที่สหรัฐฯ เสียดุลการค้ากับประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก จนทำให้สินค้าญี่ปุ่นโดนกีดกันสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐ ซึ่งในช่วงเวลานั้น ไทยมีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนของญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานการผลิตไทย และครั้งนี้ก็มีความคล้ายคลึงกัน หากเราสามารถดึงนักลงทุนหรือย้ายภาคการผลิตจากจีนมายังประเทศไทยได้ จะทำให้เศรษฐกิจของไทยสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” รศ.ดร.มนตรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ด้วยนโยบายของภาครัฐที่พยายามเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้เป็นอย่างดี ประกอบกับความได้เปรียบในเรื่องของทำเลที่ตั้งของประเทศที่อยู่ศูนย์กลางอาเซียนที่สามารถเชื่อมการค้าและการส่งออกผ่าน AEC อย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบและมีจุดเด่นเพียงพอที่จะดึงดูดนักลงทุนจากจีนเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างยั่งยืน