WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 22 ธันวาคม 2567 ติดต่อเรา
กรุงศรี จับตาเศรษฐกิจโลกหลัง “ทรัมป์” เรืองอำนาจ!!!

26 พฤศจิกายน 2559 : นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ภายหลังจาก ดอนัลด์ ทรัมป์ ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี สหรัฐฯ ความผันผวนของตลาดการเงินไม่ได้รุนแรงมากเท่าที่คาดคิดไว้ ซึ่งเงินสกุลที่มีผลกระทบมากที่สุดคือ แม็กซิกันเปโซ มีความผันผวนสูงสุดถึง 14% อันเนื่องมาจากนโยบายส่งคนกลับของแรงงานที่เข้ามาในสหรัฐฯ รองลงมาเป็นเงินยูโร 4%

ส่วนดัชนีวัดตลาดหุ้นโลก มีความผันผวนก่อนเลือกตั้งขึ้นไป 5% แต่หลังจากทราบผลแล้วผันผวนเพียง 1% เท่านั้น ดัชนีหุ้นไทยแทบไม่ส่งผลกระทบทางตรงแต่อาจจะส่งผลกระทบเพียง 2% ทองคำ ช่วงก่อนเลือกตั้ง 9% หลังเลือกตั้งกลับมาที่ 6% ค่าเงินเยนก่อนเลือกตั้งสวิงมากกว่า 8% แต่หลังจากการเลือกตั้ง 5%

สำหรับเศรษฐกิจการเงินในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ มีผลกระทบต่อตลาดในเรื่องต่างๆ ได้แก่ 1.นโยบายกีดกันทางการค้า กำแพงภาษี สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศผู้ส่งออกรวมถึงไทย ซึ่งตลาดส่งออกคงจะลดลง 2.การเมืองคานอำนาจมากขึ้น สมาชิกอาวุโสบางส่วนในพรรครีพับลีกันไม่สนับสนุนทรัมป์ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงนโยบายสุดโต่ง 3. กลุ่มธุรกิจ เช่น สุขภาพ ได้รับอานิสงส์จากแผนยกเลิกมาตรการคุมราคายา และ 4. มาตรการลดภาษีและขยายการลงทุนภาครัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะสั้น แต่กระทบสถานะการคลังของสหรัฐฯ ในระยะยาว เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) มีแนวโน้มขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว

คุณตรรก-_กรุงศรี

ส่วนปัจจัยกระทบทางด้านค่าเงินหลังจากผลเลือกตั้งออกมา สกุลเงินที่มีการแข็งค่าขึ้นมีเพียงสกุลเดียวคือเงินปอนด์ บวกขึ้นมา 0.24% ส่วนสกุลเงินเยนอ่อนค่าลงมามากที่สุดถึง 7.13% ขณะที่เงินริงกิตอ่อนค่าลงไป 5.3% อินโดนีเซีย เงินรูเปียอ่อนค่าลง 3.46% ยูโร อ่อนค่าลง 3.2% ฟิลิปปินส์ 2.65% ตามด้วยสิงคโปร์ 2.29% และเงินบาทอ่อนค่าลงไปน้อยที่สุด 2.14% ซึ่งเงินบาทไม่ได้รับผลกระทบมากเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ

ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดการเงินในปี 2017 มีปัจจัยกระทบค่าในเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1.นโยบายการเงินของเฟด ขึ้นดอกเบี้ย 25 basis points (bps) ในเดือนธันวาคม 2559 และอาจจะปรับขึ้นอีกอย่างน้อย 50 bps ในปี 2560 ท่ามกลางการคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น 2.ค่าเงินดอลลาร์ มีแรงส่งด้านขาขึ้นจากนโยบายของเฟด 3.อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงขึ้น 4. การเทขายพันธบัตรทั่วโลก กระตุ้นเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ดังนั้น ผลกระทบต่อค่าเงินบาทจะไปในทิศทางอ่อนค่าลงในระยะ 1-2 ไตรมาสข้างหน้าปี 2560 และเงินบาทอาจจะกลับมาแข็งค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 จากความชัดเจนของนโยบายใหม่สหรัฐฯ รวมถึงค่าเงินหยวนจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้มีบาลานซ์กลับมายังค่าเงินเอเชียที่มาถ่วงดุลกับค่าเงินดอลลาร์ได้ในครึ่งปีหลัง 2560

อย่างไรก็ดี ในแง่ของนักลงทุนสิ่งที่จับตามอง คื่อ Brexit กระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในยุโรป รวมถึงความเสี่ยงของผลโหวตที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะพลิกโผที่ซ้ำรอยในหลายประเทศที่มีการเลือกตั้งในปีหน้าอาจจะสร้างแรงผลผวนได้อย่างต่อเนื่อง

ทางด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแรงขับเคลื่อนและท้าทายในปัจจัยต่างๆ ได้แก่ 1.การใช้จ่ายภาครัฐจะสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะสั้น ขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ในระยะยาวจะขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน 2. ต้นทุนน้ำมันและดอกเบี้ยยังค่อนข้างต่ำแม้ผันผวน 3. ธุรกิจท่องเที่ยวชะลอตัวเพียงชั่วคราว และจะกลับมาขยายตัวขึ้นในปีหน้า 4.ผลจากภัยแล้งบรรเทาลง หนุนกำลังซื้อของผู้บริโภค และ 5. ระดับทุนสำรองฯ และหนี้ต่างประเทศ

นับตั้งแต่วิกฤติปี 2540/2541 ระดับทุนสำรองเพิ่มขึ้นเรื่อยมา โดยในปัจจุบันแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เรามีเงินทุนสำรองพอเพียงที่จะชำระหนี้ระยะสั้นเกือบ 3 เท่าตัว หรือ 294%

ในขณะที่ปัจจัยลบในปี 2560 มาจากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ยังมีความไม่แน่นอน นำโดยสหรัฐฯ และจีน ปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคส่งออก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันสินค้าต่อตลาดต่างประเทศ และตลาดการเงินผันผวน

หากพิจารณาถึงผลกระทบจากนโยบายของ ดอนัลด์ ทรัมป์ พบว่า มีผลกระทบโดยตรงทางด้านส่วนแบ่งของตลาดส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ปัจจุบันลดลงเหลือ 11% จาก 15% ในปี 2548 หรือ 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการส่งเงินโอนกลับของแรงงานไทยในสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 0.4% ของ GDP และเงินลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯมีสัดส่วนราว 8% ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม จะถูกส่งผ่านช่องทางการกีดกันการค้า นโยบายที่แข็งกร้าวต่อการส่งออกของจีนจะกระทบไทย ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิต

สำหรับตลาดดอกเบี้ยของโลกมีแนวโน้มที่จะขยับตัวขึ้น ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นที่คาดว่ายังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขกันในระยะยาว ซึ่งสหรัฐฯเติบโตตามดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยยูโรยังติดลบ หากมาดูตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยจะฟื้นตัวขึ้น ปัจจัยที่ทำให้ดีขึ้นมาจาก 1.อุปสรรคเชิงโครงสร้างภาคส่งออก ฉุดรั้งการขยายตัวโดยรวม ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2559 เริ่มบ่งชี้สัญญาณฟื้นตัว 2.แนวโน้มรายได้เกษตรกรมีสดใสขึ้น สนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ภัยแล้วทุเลาลง ส่วนระดับหนี้ภาคครัวเรือนเริ่มมีเสถียรภาพ

3.นโยบายการคลังและธุรกิจท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านเงินเฟ้อทยอยขยับขึ้น อย่างไรก็ดี ธปท.ต้องการรักษาพื้นที่สำหรับการปรับนโยบาย (Policy space) เมื่อจำเป็น คาด ธปท.คงอัตราดอกเบี่้ยนโยบายที่ 1.50% ตลอดปี 2560

สรุปประมาณการณ์ค่าเงินบาทในไตรมาสแรกอาจจะอยู่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออยู่ในช่วง 35-37 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ไตรมาส 4 ของปีหน้าค่าเงินบาทอาจจะอยู่ในระดับ 35.25 บาท หรืออยู่ระหว่าง 34.25-36.25 บาทต่อดอลลาร์

นายตรรก กล่าวต่อไปว่า ด้วยความแข็งแกร่งของผู้ถือหุ้นญี่ปุ่นของกรุงศรี เราสามารถให้คำแนะนำทางด้านสินค้า ค่าเงินและลงทุนระยะยาวและช่วยดูแลเฮดจ์ฟันด์ Hedge Fund (HF)ให้ได้ รวมถึงการลงทุนเริ่มขยับเข้าสู่ตลาดพันธบัตรนอกประเทศมากขึ้น จากเดิมที่ญี่ปุ่นเน้นฝากเงินเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรแข้มแข็งยิ่งขึ้น กรุงศรีฯ จึงมีนโยบายเดินหน้าการให้บริการด้านนี้ต่อไปในปีหน้า

“ตลาดพันธบัตรในปี 2560 นั้นมองว่า ต้นทุนของผู้ยืมเงินจากตลาดพันธบัตรสูงขึ้นแน่ถ้าผลตอบแทนจาก 5 ปี 7 ปีหรือ 10 ปี ผลตอบแทนสูงขึ้นย่อมมีผลต่อต้นทุน แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อผู้กู้ยืมให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ก็เป็นโอกาสของผู้ลงทุนในระยะเวลาดอกเบี้ยขณะนี้ต่ำมากก็อาจจะนำเงินที่เก็บไว้มาลงทุนในผลตอบแทนที่สูงกว่า ขณะนี้พันธบัตร 3.3-3.5% ก็จูงใจให้คนมาลงทุนและความเสี่ยงไม่สูง ฉะนั้น ในปีหน้าผู้ลงทุนและผู้กู้คงจะบาลานซ์กันได้ เพราะฉะนั้นผู้ออกบอนด์ก็ต้องพยายามทำให้ตนเองไม่ถูกกระทบจากบรรยากาศของการลงทุน หรือเศรษฐกิจในปัจจุบันในเชิงลบมากจนเกินไป หากบริหารไม่ได้อาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการบริหารงาน” นายตรรก กล่าว

ขณะเดียวกันบริษัทข้ามชาติเริ่มเข้ามา มองถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อบริหารเงินของเขาไม่ให้ถูกกระทบจากเทรนอัตราดอกเบี้ยที่มีขาขึ้นในปีหน้า ฉะนั้น เครื่องมือทางด้านการลงต้นทุนทางการเงิน เป็นที่สนใจชัดเจนจากลูกค้า ธนาคารจะเดินหน้าต่อเนื่องในการนำเสนอผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้กว้างขวางมากขึ้น

ทางด้านสถาบันการเงินก็เป็นอีกเซ็กเมนท์หนึ่งที่เห็นได้ชัดว่า ปัจจุบันไม่ได้ลงทุนแต่เพียงพันธบัตรไทย เช่น มีการลงทุนไปยัง Japan Government bond :JGB สูงขึ้นจากผู้ลงทุนไทย ไม่ว่าจะเป็น บลจ.กลุ่มประกัน เพราะฉะนั้นกรุงศรีฯก็ถือว่าเป็นเจ้าใหญ่ของญี่ปุ่น การนำเสนอ JGB สามารถนำเสนอได้มากกว่าสถาบันอื่น รวมถึงสามารถแชร์แนวคิดจากบริษัทญี่ปุ่นในการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ให้กับบริษัทไทยได้ ซึ่งช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเป็นแนวโน้มที่ดี บริษัทไทยเปิดมุมมองกว้างมากขึ้นคิดแบบเอเชียนมากขึ้น logo เล็ก (ปิดท้ายข่าว) - Copy

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP