15 ธันวาคม 2565 : จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนคนไทยมีความสนใจและตระหนักถึงการดูแลสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นความรู้และความเข้าใจในการใช้ยา และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ถูกต้อง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือหากเกิดโรคระบาดใหม่ขึ้นอีก
เครือสยามไบโอไซเอนซ์ ในฐานะผู้ผลิตยาชีววัตถุของคนไทย จึงริเริ่มโครงการตู้ยาชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพให้กับคนในชุมชนแออัด รวมถึงพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศไทย ซึ่งขาดโอกาสเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นพื้นฐาน
โดยในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โครงการตู้ยาชุมชนได้เริ่มนับหนึ่งเปิดโครงการที่ชุมชน 70 ไร่ หนึ่งในชุมชนแออัดขนาดใหญ่ของพื้นที่คลองเตย โดยมีคณะผู้บริหาร และพนักงานจิตอาสาของเครือสยามไบโอไซเอนซ์ ลงพื้นที่ร่วมกับเภสัชกร วิทยากร และพยาบาลจากศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย เพื่อให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ รวมทั้งจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคอัลไซเมอร์ เทคนิคการอ่านฉลากยา และการสังเกตยาเสื่อมคุณภาพ
นอกจากนี้ โครงการตู้ยาชุมชนได้มอบชุดยาสามัญประจำบ้าน ชุดตรวจ ATK ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และคู่มือดูแลสุขภาพ ให้กับประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม รวมถึงส่งมอบให้กับศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย เพื่อส่งต่อให้กับคนในชุมชนที่มีความต้องการ รวมทั้งเก็บเป็นยาสำรองในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนเกิดความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาที่ถูกต้อง มีชุดยาสามัญประจำบ้านไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และที่สำคัญคือ การสนับสนุนให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น
นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า “โควิด-19 เป็นเหมือนบทเรียนที่บอกว่า การมีสุขภาพที่ดีคือป้อมปราการสำคัญของชีวิต สยามไบโอไซเอนซ์ ในฐานะผู้ผลิตยาของคนไทย จึงริเริ่มโครงการตู้ยาชุมชน โดยหวังว่าเราจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยให้ประชาชนมีความรู้เรื่องยาติดตัว มีชุดยาพื้นฐานไว้ใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ที่สำคัญ กิจกรรมนำร่องมาจัดในพื้นที่คลองเตย ด้วยทราบถึงสภาพปัญหาจากการได้ทำงานด้านกีฬาคลุกคลีกับคนในชุมชน ที่มีทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น คนทำงานหาเช้ากินค่ำ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกิจกรรม ก่อนขยายต่อไปยังชุมชนอื่นๆ รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ เพื่อร่วมสร้างเกราะป้องกันด้านสุขภาพให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ คลองเตย เป็นหนึ่งในพื้นที่ชุมชนแออัดขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้มีความเสี่ยงหากเกิดภาวะโรคระบาด โดยชุมชน 70 ไร่ เป็นหนึ่งในชุมชนขนาดใหญ่ของพื้นที่คลองเตย มีจำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงจำนวนมาก การเข้าไปให้ความรู้เรื่องสุขภาพ จึงเน้นโรคที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มของประเทศไทย ที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หากผู้สูงอายุมีความรู้ในการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง