จ.เชียงใหม่, 2 ธันวาคม 2565 : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขยายผลโครงการ “รักษ์ช้างยั่งยืน เฟส 2” จากโครงการแรกมุ่งวิจัยการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตอาหารช้างและต่อยอดยกระดับมุ่งแก้ปัญหาช้างโดยตรง ด้วยโครงการ “บริการสุขภาพและสวัสดิภาพของช้างเลี้ยงในพื้นที่ภาคเหนือ” ด้านพันธมิตรทางธุรกิจ “วิริยะประกันภัย” ยืนยันพร้อมสนับสนุนเต็มที่ระดมเครือข่ายวิริยะจิตอาสาในภาคเหนือ ทั้งพนักงาน ตัวแทนนายหน้าศูนย์ซ่อมมาตรฐานฯ ดีลเลอร์ผู้แทนรถยนต์ในพื้นที่เข้ามาเป็นแนวร่วมในการทำงาน เบื้องต้นได้ระดมทุนทรัพย์กว่า 2 แสนบาท สนับสนุนการทำงานให้กับ “หมอช้าง” ทีมงานศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่าโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันคณะสัตวแพทยศาสตร์ได้ดำเนินกิจกรรมในหลากหลายโครงการ ทั้งเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชน และเข้าไปร่วมมือกับภาครัฐเอกชนและภาคประชาสังคมในการสร้างความยั่งยืนในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนได้รับการขนานนามว่า “มหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรกับสัตว์” ซึ่งได้รับมาจากความสำเร็จในโครงการ(ห)มา ซีเอ็มยู (MaCMU Project) ที่สามารถเปลี่ยนสุนัขจรจัดในมหาวิทยาลัยให้เป็น “สุนัขชุมชน”จนได้ใจคนรักสุนัขและคนรักสัตว์ทั่วประเทศ
สำหรับโครงการวิจัยการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตพืชอาหารเลี้ยงช้าง นับเป็นอีกโครงการหนึ่งที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ได้เปิดความร่วมมือกับ บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในการเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาอาหารช้างในช่วงวิกฤตโควิด โดยในระยะแรกนั้นทางวิริยะประกันภัยได้เสนอขอความร่วมมือในการจัดทำโครงการ “การปลูกพืชอาหารช้างที่มีคุณภาพเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งสอดคล้องกับโครงการวิจัยฯดังกล่าว จึงได้เปิดความร่วมมือทำงานด้วยกันเพื่อให้บรรลุความหมาย “รักษ์ช้างยั่งยืน” ซึ่งในโครงการนี้ผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหญ้าเลี้ยงช้างมีความยั่งยืนในอาชีพและมีเครือข่ายที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาต่อยอดไปในหลายๆพื้นที่ของภาคเหนือ
ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ เปิดเผยต่อไปอีกว่า หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับช้างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเริ่มขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆของภาคเหนือ ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ยังมีหน้าที่หลักอีกด้านหนึ่งคือการสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพของช้าง ซึ่งในปัจจุบันเป็นบทบาทหน้าที่ของศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า ในการเข้าไปดูแลช้างให้มีสุขภาพที่ดี รวมไปถึงเพื่อให้เกิดสวัสดิภาพที่ดีต่อช้างผ่านการออกรักษา ตรวจสุขภาพช้างตามปางช้าง และชุมชนผู้เลี้ยงช้างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงในเขตภาคเหนือ
โดยนายสัตวแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่าจะออกเดินทางไปด้วยรถคลินิกเคลื่อนที่เพื่อเข้าไปตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยของช้างเมื่อมีการร้องขอจากปางช้างหรือเจ้าของช้าง รวมไปถึงออกให้คำแนะนำในการจัดการเลี้ยงดูช้างและการป้องกันโรคแก่ควาญช้าง เจ้าของช้าง และปางช้าง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ บมจ.วิริยะประกันภัย ได้เข้ามาร่วมต่อยอดโครงการ“บริการสุขภาพและสวัสดิภาพของช้างเลี้ยงในพื้นที่ภาคเหนือ”เพื่อให้บรรลุความหมาย “รักษ์ช้างยั่งยืน”
ทางด้าน นายประสิทธิ์ สุนะชูแสง ผู้จัดการฝ่ายปฎิบัติการ ภาค 1 (ภาคเหนือ) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า บริษัทฯมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเปิดความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในฐานะพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างยาวนานและได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาหลากหลายโครงการและจากการที่ทางบริษัทฯได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตพืชอาหารเลี้ยงช้าง ซึ่งมิได้หมายถึงเพียงมอบทุนดำเนินการเท่านั้นแต่ได้ส่งทีมงานเข้าไปร่วมทำงานในภาคสนามด้วยจึงพบว่าปัญหาของช้างมิใช่มีเฉพาะปัญหาทางด้านอาหารเท่านั้นแต่มีห่วงโซ่ของปัญหาที่มีผลต่อคน ต่อชุมชนอีกด้วย
ประกอบกับได้สัมผัสถึงความตั้งใจความแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาและมีแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยเฉพาะศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่าทางบริษัทฯจึงเสนอตัวเปิดความร่วมมือเข้ามาร่วมดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้บรรลุความหมายที่เห็นพ้องต้องกัน คือ “รักษ์ช้างยั่งยืน”
นายประสิทธิ์ เปิดเผยต่อไปอีกว่าการเข้าไปร่วมกันทำงานในระดับภาคสนามนั้น จำจะต้องมีเครือข่ายมาร่วมดำเนินการด้วยประกอบกับบริษัทฯ มีเครือข่ายวิริยะจิตอาสาอยู่ทุกพื้นที่ทั่วไทยอันประกอบไปด้วยพนักงาน ตัวแทนฯนายหน้าฯศูนย์ซ่อมมาตรฐานวิริยะประกันภัย และพันธมิตรทางการค้า อาทิ ดีลเลอร์รถยนต์สถาบันการเงิน และมวลมิตรธุรกิจเพื่อสังคมจากองค์กรอื่นๆ จึงได้ระดมทรัพยากรบุคคลเหล่านี้มาร่วมกันทำงาน ซึ่งในก่อนหน้านั้นได้มีการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์อย่างแท้จริงในการเข้ามาร่วมรักษ์ช้างอย่างยั่งยืนไปแล้ว
ต่อเมื่อคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และบริษัทฯร่วมกันขยายผล ด้วยการจัดทำโครงการ “บริการสุขภาพและสวัสดิภาพของช้างเลี้ยงในพื้นที่ภาคเหนือ” โดยบริษัทฯ จะทำหน้าที่สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และงบประมาณการจัดซื้อเวชภัณฑ์ในการดูแลรักษาช้าง ให้กับรถคลินิกเคลื่อนที่ของหมอช้างปรากฏว่า เพียงแค่สมาชิกวิริยะจิตอาสารับรู้ได้แสดงความจำนงร่วมสมทบทุนสนับสนุนในเบื้องต้นมาก่อนถึง 144,000 บาท จึงทำให้ยอดเงินสนับสนุนที่จะมอบให้กับคณะสัตวแพทยศาสตร์เพิ่มเป็น 244,000 บาท
“อย่างไรก็ตามการทำงานไม่ใช่แค่สมทบทุนแล้วจบกัน แต่บริษัทฯ จะเป็นหนึ่งในกลไกของการทำงานผ่านเครือข่ายวิริยะจิตอาสาในการดูแลคุณภาพชีวิตของช้างอย่างยั่งยืนซึ่งความตั้งใจนี้กำลังอยู่ในระหว่างบูรณาการความคิดกับทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ว่า จะใช้ศักยภาพของแนวร่วมวิริยะจิตอาสาที่มีอยู่ทุกพื้นที่ภาคเหนือให้เข้ามาร่วมกิจกรรมกันในรูปแบบไหนทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยปัญหาของแต่ละพื้นที่จะเข้าไปร่วมดำเนินการ” นายประสิทธิ์ กล่าวในที่สุด