7 พฤศจิกายน 2565 : นายชัยยุทธ์ มังศรี รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.เปิดเผยว่า ตามนโยบายการดำเนินงานของคปภ. ซึ่งหนึ่งในนโยบายนั้น เป็นการส่งเสริมการดำเนินโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เฉพาะถิ่นให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เป็นการบริหารความเสี่ยงให้แก่ประชาชนได้ตรงความต้องการมากยิ่งขึ้น
ล่าสุด มีแนวคิดที่จะทำประกันภัย "กล้วยหอมทอง" จังหวัดเพชรบุรี โดยขณะนี้มีเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองกว่า 550 ราย จำนวนกว่า 60,000 ไร่ ใน 2 อำเภอได้แก่ อำเภอท่ายาง และอำเภอบ้านลาด จ.เพชรบุรี ซึ่งผลิตผลส่วนใหญ่จะส่งให้กับทางร้านสะดวกซื้อ 7-11 และส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก ดังนั้น คปภ.จึงมีแนวคิดที่จะนำหลักประกันภัยไปคุ้มครอง โดยการประกันภัยกล้วยหอมทองนี้ จะให้ความคุ้มครองความเสี่ยงของปลูกตั้งแต่เริ่มนำหน่อลงดินปลูกจนถึงกระบวนการตัดผล ได้แก่ คุ้มครองภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง ลมพายุ อัคคีภัย รวมระยะเวลาคุ้มครอง 8-12 เดือน
"ปัจจุบันเกษตรกรมอบให้ทางสหกรณ์การเกษตรฯ รับความเสี่ยงภัยอยู่ เนื่องจากเกษตรกรต้องกู้เงินจากสหกรณ์ไปทำทุนในการเพาะปลูกในแต่ละปี โดยทางสหกรณ์จะหักเงินคืน 5% เมื่อเกษตรกรขายผลผลิตได้ โดยเฉลี่ยแล้วสหกรณ์ปล่อยกู้ให้ประมาณ 20,000 บาท/ราย ยกตัวอย่าง หากเกษตรกรขายผลิตผลได้ 30,000 บาท ทางสหกรณ์จะหักไว้ 20,000 บาท เกษตรกรเหลือเพียง 10,000 บาท ดังนั้น ประชาชนผู้ทำไร่กล้วยจึงมีความต้องการให้ประกันภัยเข้าไปคุ้มครอง" นายชัยยุทธ์ กล่าว
ขณะนี้ ทางสำนักงานคปภ.ได้กำหนดทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 นี้ ถึงแนวทางความเป็นไปได้กรณีการรับประกันภัยกล้วยหอมทอง อัตราเบี้ยประกันภัย และความคุ้มครองฯลฯ โดยปัจจุบันมีบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) แสดงเจตจำนงที่จะเข้ามารับประกันความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวนี้แล้ว