WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันศุกร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ยกระดับการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดย : คุณชอว์น เฉิน รองประธานบริษัท ซี.เอช. โรบินสัน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การค้าโลกาภิวัตน์ เป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญของเศรษฐกิจโลก และยังได้สร้างระบบการค้าโลกที่มีการเชื่อมโยงถึงกัน ส่งผลให้เกิดโอกาสอย่างไม่รู้จบที่ช่วยให้บรรดาผู้มีอำนาจในการตัดสินใจขององค์กรสามารถเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ ตลอดจนจัดหาพนักงาน วัสดุ และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อย่างหลากหลายโดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องเขตเวลา

แต่ด้วยความผันผวนของห่วงโซ่อุปทานในด้านต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งควบคู่ไปกับความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ก็ได้ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดโลจิสติกส์จำนวนมาก กำลังหันมาทบทวนกลยุทธ์ของตนเพื่อลดผลกระทบจากการเกิดปัญหาดังกล่าวภายในเครือข่ายการทำงานของตน

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาไม่ได้ง่ายเหมือนการเพิ่มความจุของเรือคอนเทนเนอร์หรือการจองเครื่องบินล่วงหน้า เนื่องจากมีอุปสรรคมากมายที่อยู่เหนือการควบคุม ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ สถานการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิดยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญ เช่น สภาพอากาศที่เลวร้ายอย่างมากหรือการหยุดดำเนินงานอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด -19 ที่ยังคงก่อให้เกิดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ราคาของการผลิตที่ต่างไปจากเดิม รวมถึงการขยายระยะเวลาในการส่งมอบสินค้าให้กับซัพพลายเออร์ด้วย

ปัจจุบันการขนส่งระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะผ่านทางทะเล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ของสินค้าที่มีการขนส่งทางน้ำ อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนถือเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือแล้ว หรือเมื่อต้องให้มีการนำส่งสินค้าถึงหน้าประตูบ้าน และด้วยการผสมผสานระหว่างการขนส่งข้ามพรมแดน การขนส่งทางอากาศ และการส่งขนส่งทางทะเล บริษัทต่างๆ ก็สามารถปลดล็อกโอกาสทางธุรกิจและศักยภาพที่ไม่มีที่สิ้นสุดของตนภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างเห็นผล

จุดจบของยุค “หนึ่งรูปแบบของการบริการเหมาะกับทุกคน”

การขนส่งสินค้าทางทะเลและทางอากาศเป็นรูปแบบการขนส่งที่พร้อมรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และถูกมองว่าเป็นรูปแบบที่มักได้รับความนิยมสำหรับภาคอุตสาหกรรม เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องการการขนส่งที่รวดเร็วหรือผู้ขายในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้นำธุรกิจอาจคาดคำนวณเวลาจริงที่ต้องใช้สำหรับการขนส่งสินค้าให้ไปถึงที่หมายไม่ถูกต้อง ซึ่งนั่นอาจก่อให้เกิดต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ในห่วงโซ่อุปทาน ในทำนองเดียวกัน การพึ่งพาเฉพาะการขนส่งทางทะเลเท่านั้นอาจก่อให้เกิดความล่าช้าได้หากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยหรือในกรณีที่ไม่มีเรือขนส่งสำรอง

การเคลื่อนย้ายสินค้าโดยใช้การขนส่งหลายรูปแบบ จะช่วยให้เพิ่มความสามารถในการกำหนดเส้นทาง ตามลักษณะของสินค้าที่จัดส่งได้ตามต้องการ ตัวอย่างเช่น การขนส่งยางรถยนต์ที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนหรือต้องทันเวลาเหมือนกับผลิตภัณฑ์ยา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ บรรดาผู้นำในอุตสาหกรรมสามารถมองหาทางเลือกอื่นๆ ที่มีราคาไม่แพง เช่น เริ่มต้นด้วยการขนส่งสินค้าทางอากาศจากเมืองใหญ่แห่งหนึ่งไปยังเมืองใหญ่อีกแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงใช้การขนส่งทางบกจากเมืองใหญ่ไปยังเมืองหรือเขตที่มีขนาดเล็กกว่า

การนำเอาการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์ ได้ทำให้ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายห่วงโซ่อุปทานของแต่ละบริษัทสามารถควบคุมและเข้าใจเรื่องวิธีการเคลื่อนย้ายสินค้าผ่านเครือข่ายการขนส่งได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภายในภูมิภาคเอเชียนั้น การขนส่งข้ามพรมแดนที่ใช้ทั้งรถบรรทุกและรถไฟอาจกลายเป็นทางเลือกที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ แทนที่จะพึ่งพาเฉพาะการขนส่งทางอากาศหรือทางทะเลสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แนวทางนี้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกได้อย่างชัดเจน

โดยบริษัทที่ขาดแคลนทรัพยากร สามารถพึ่งพาผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์บุคคลที่สามที่สามารถช่วยสนับสนุนด้วยการจัดการดูแลเรื่องการจัดส่งได้อย่างครบวงจร รวมทั้งช่วยออกแบบโซลูชันสำหรับเส้นทางการเดินทางของสินค้าได้ตามต้องการ และช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อเดินหน้าดำเนินธุรกิจต่อได้ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ในขณะที่เครือข่ายโลจิสติกส์ในภูมิภาคแห่งนี้กำลังมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น บริการรถไฟและรถบรรทุกรูปแบบใหม่พร้อมนำเสนอตัวเลือกสำหรับการขนส่งที่มากกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกันได้ครอบคลุมยิ่งขึ้นสำหรับธุรกิจต่างๆ และอำนวยความสะดวกให้กับการค้าข้ามพรมแดนได้อย่างเห็นผล

กำหนดเส้นทางโลจิสติกส์เพื่อขนส่งที่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพได้ตามต้องการ

การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนมีข้อจำกัดเรื่องประเภทของสินค้าที่น้อยกว่าการขนส่งสินค้าทางอากาศหรือทางทะเล โดยสินค้าที่ขนส่งทางอากาศนั้นจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยในการบิน ดังนั้น สิ่งของบางอย่าง เช่น ของเหลวและวัตถุไวไฟ จำเป็นต้องมีเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งอาจทำให้เกิดความล่าช้าในเครือข่ายโลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น องค์กรต่างๆ จึงควรพิจารณาว่าการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนเป็นรูปแบบการขนส่งที่จะเข้ามาเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์ภายในภูมิภาคเอเชียควบคู่ไปกับการขนส่งทางอากาศและทางทะเลได้ ตัวอย่างเช่น รถไฟจีน-ลาว เป็นเส้นทางที่ใช้ในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับชาติสมาชิกในอาเซียน รวมถึงผู้ลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ด้วยตารางการออกเดินทางรายสัปดาห์ที่มีจำนวนหลายเที่ยว ทำให้บรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดโลจิสติกส์สามารถจองการขนส่งสินค้าทางบกได้อย่างง่ายดาย

กรณีที่เกิดปัญหาติดขัดขึ้นที่ท่าเรือ สำหรับลูกค้าแล้วนั้น การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนยังมีราคาที่ไม่แพงมากในแง่ของต้นทุนต่อปริมาณ โดยที่ความเร็วในการขนส่งก็ไม่ได้ดูช้าจนเกินไปสำหรับเส้นทางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอยู่ และแทนที่จะต้องแก้ปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ที่ติดอยู่ที่ท่าเรือหรือสนามบิน ก็สามารถเปลี่ยนเส้นทางสินค้าทางบกไปยังปลายทางที่ใกล้ที่สุดถัดไปได้อย่างต่อเนื่อง

บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้

เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า องค์กรธุรกิจมักจะเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภคเลือกรูปแบบการขนส่งที่รวดเร็วและสะดวกยิ่งกว่า แต่สิ่งนี้อาจก่อให้เกิดการบริโภคสินค้าและบริการในลักษณะที่ไม่ยั่งยืน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อมีผู้คนจำนวนมากขึ้นต้องการการจัดส่งที่เร็วขึ้น ระยะเวลาในการจัดส่งสำหรับบริษัทขนส่งก็จะต้องสั้นลงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลให้เกิดการเดินทางเพื่อจัดส่งที่บ่อยขึ้นและก่อให้เกิดปริมาณคาร์บอนเพิ่มมากขึ้น อันที่จริงแล้ว การขนส่งทางอากาศมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกที่ระดับ 2 เปอร์เซ็นต์ และ 4 เปอร์เซ็นต์สำหรับการขนส่งทางทะเล

เมื่อรัฐบาลได้บังคับใช้กฎระเบียบด้านความยั่งยืนที่เข้มงวดยิ่งขึ้น เช่น โครงการปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Regional Action Programme for Sustainable Transport Development in Asia and the Pacific) บริษัทต่างๆ ต่างก็กระตือรือร้นที่จะดำเนินงานในลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้แต่ภาคส่วนโลจิสติกส์เองก็ไม่เว้นที่จะผลักดันแผนการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้ การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสามารถช่วยให้ธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้ ตัวอย่างเช่น บริการรถไฟสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการขนส่งทางทะเล และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการขนส่งทางอากาศถึง 12 เท่า

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ในจำนวนมากขึ้นก็กำลังหันมาใช้บริการรถไฟจีน-ลาวเพื่อให้เข้าถึงบริการที่ยั่งยืนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น มาตรการด้านนโยบาย เช่น การบริการที่จำเป็นต่างๆ ณ ชายแดน การส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าโดยการขนส่งหลายรูปแบบ การควบคุมการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมให้กระบวนการทำงานกลายเป็นระบบดิจิทัล ทำให้สินค้าสามารถไหลข้ามพรมแดนได้อย่างราบรื่นแม้จะเกิดกรณีล็อกดาวน์หรือปิดเมืองทั้งเมืองภายในประเทศและมาตรการจำกัดอื่นๆ ก็ตาม

การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน: กุญแจสู่ระบบโลจิสติกส์ที่อาศัยการขนส่งแบบหลายรูปแบบ

การพึ่งพาระบบขนส่งเพียงระบบเดียวในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การขนส่งทางอากาศหรือทางทะเล นับว่ามีความเสี่ยงมากเกินไป การยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งข้ามพรมแดนจะช่วยให้คุณสามารถใช้กลยุทธ์หลายรูปแบบเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายและความท้าทายทางธุรกิจของคุณต้องเผชิญได้

การผลักดันให้เครือข่ายโลจิสติกส์และการขนส่งก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพและยืดหยุ่น ถือเป็นกุญแจสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพึ่งพาระบบโลจิสติกส์ที่ใช้การขนส่งหลายรูปแบบ จะทำให้บรรดาผู้นำธุรกิจสามารถมีส่วนร่วมในบริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาประหยัดและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น 

ธุรกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP