3 พฤศจิกายน 65 : ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวปาฐกถา เรื่อง Hong Kong-ASEAN Connect: Potential for Mutual Multi-dimensional Opportunities (โอกาสหลากมิติภายใต้ความร่วมมือฮ่องกง-อาเซียน) ผ่านระบบ Video Conference ในการประชุมสุดยอดฮ่องกง-อาเซียน 2022 ที่จัดโดย South China Morning Post ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาโควิด-19 ได้คลายตัวลงแล้ว ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ด้วยการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคที่จะเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งก็คือ อาเซียนบวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูล จะพบความน่าสนใจว่า อาเซียนมีประชากรกว่า 660 ล้านคน มากกว่า 50% อยู่ในวัยแรงงาน และ 25% อยู่ในกลุ่มอายุ 5-19 ปี และเมื่อพิจารณาในด้านการจ้างงาน แรงงาน 90 ล้านคนอยู่ในภาคเกษตร 73 ล้านคนอยู่ในภาคค้าส่ง ขายปลีก และ Hospitality 44 ล้านคนอยู่ในภาคการผลิต 22 ล้านคนอยู่ในภาคการก่อสร้าง 16 ล้านคนอยู่ในภาคโลจิสติกส์ และไอที ขณะที่ 9 ล้านคนอยู่ในภาคการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และบริการธุรกิจ
ขณะที่ GDP ของอาเซียน ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการค้ากับจีนกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้ากว่า 3.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอาเซียนมีมูลค่า 1.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง 25% มาจากการลงทุนของสหรัฐฯ และ 8.5% หรือประมาณ 1.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาจากฮ่องกง ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นไฮไลต์ของอาเซียน โดยในช่วงก่อนโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวอาเซียนไปเยือนฮ่องกงปีละ 2.6 ล้านคน และนักท่องเที่ยวฮ่องกงมาเยือนอาเซียน 1.7 ล้านคน นอกจากนี้อาเซียนยังส่งออกสินค้าเกษตรไปยังฮ่องกงมูลค่ากว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกด้วย
เมื่อโฟกัสที่ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและฮ่องกง พบว่ายังมีโอกาสสำหรับการพัฒนาศักยภาพและความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก และมีกลไกความร่วมมือระหว่างกันอีกหลายมิติ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง ที่มีมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งครอบคลุมการลงทุน การค้าสินค้าและบริการ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และทรัพย์สินทางปัญญา ขณะเดียวกันก็มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ช่วยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันอยู่แล้ว เช่น สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (Hong Kong Economic and Trade Office-HKETO) ในกรุงเทพฯ จาการ์ตา และสิงคโปร์ สำนักงานการค้าธุรกิจที่นำโดยองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (Hong Kong Trade Development Council – HKTDC) ในการเชื่อมโยง จับคู่ธุรกิจและร่วมทุนทางธุรกิจกับ
สำหรับโอกาสการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างฮ่องกงและอาเซียน ดร. พิเชฐได้เสนอข้อคิดเห็นไว้ 3 แนวทาง ประกอบด้วย
ประการแรก การเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากความร่วมมือด้านการเงิน การค้า และการลงทุน โดยต้องกำหนดเป้าหมายและแนวทางดำเนินงานใหม่ เช่น ด้านการค้าที่ต้องเริ่มโฟกัสกับกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ร่วมกัน เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน อาหารเพื่อสุขภาพเฉพาะด้าน (Functional Food) กลุ่มเศรษฐกิจใหม่ ที่มุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน BCG ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
ส่วนภาคบริการควรเน้นด้านการท่องเที่ยว เทคโนโลยีการเงิน (FinTech) และการลงทุนด้านนวัตกรรมที่ต้องสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นว่าโลกกำลังต้องการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน การขนส่ง อาหาร และความมั่นคงทางพลังงาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจและมนุษยชาติอีกด้วย
ประการที่ 2 ฮ่องกงและอาเซียนควรทบทวนด้านการเชื่อมโยงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างกัน โดยอาจมีแนวทางและความร่วมมือเพื่อขยายปริมาณการค้า ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค ห่วงโซ่คุณค่า ตลอดจนการเสริมทักษะใหม่ของแรงงาน ขณะเดียวกันอาจต้องมองถึงการเชื่อมต่อในมิติอื่น ๆ อย่างท่าเรือน้ำลึก การบิน และระบบราง การเชื่อมต่อด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งผ่านเครือข่ายข้อมูลภาคพื้น ดาวเทียม และเคเบิลใต้น้ำ อันจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงด้านข้อมูล ด้านอีคอมเมิร์ซ และการศึกษา ที่จะนำพาเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายเดินหน้าสู่โลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน รวมถึงในระหว่างทางที่ต้องมีความร่วมมือระหว่างกันในประเด็นด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูล
“ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราเห็นความตั้งใจและผลงานของสตาร์ทอัพที่สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้นมามากมาย และเชื่อมั่นว่าภายใต้ความร่วมมือระหว่างฮ่องกงและอาเซียนที่จะเกิดขึ้นต่อไป จะทำให้เราได้เห็นความสามารถของคนรุ่นใหม่จากทั้งสองฝั่งที่จะทำงานและเติบโตไปด้วยกัน เพื่อขยายศักยภาพไปสู่การแข่งขันในตลาดระดับโลกมากยิ่งขึ้น และนำมาซึ่งความต้องการด้านการเงินในลักษณะการร่วมลงทุน หรือ Venture Capital มากขึ้นด้วย นับเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจเครื่องใหม่ที่ต้องใช้นวัตกรรมและความสามารถเชิงธุรกิจจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ มาช่วยขับเคลื่อน”
ประการที่ 3 อาเซียนยังให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคมและวัฒนธรรมร่วมกันในฐานะที่เป็นพลเมืองของอาเซียน ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม การมีส่วนร่วม ความยั่งยืน และการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นความร่วมมือที่ดีระหว่างกันในมิตินี้ จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดปัจจุบัน ภาคเศรษฐกิจและธุรกิจไม่อาจแยกขาดจากประเด็นทางสังคมได้อีกต่อไป ดังที่ได้เห็นองค์กรธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมต่างประกาศเจตนารมณ์ด้าน ESG การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การส่งเสริมด้านความร่วมมือของมนุยชาติ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไปกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจจะช่วยให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน และช่วยลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันให้แคบลง