20 ตุลาคม 2565 : ย้อนไปตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ขอยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการรับประกันภัยโควิด 19 แบบ เจอ จ่าย จบ จนมีสินไหมท่วมท้นเกือบ 50,000 ล้านบาท (ยังไม่ได้ชำระ มีผู้เสียหายร้องเรียนกว่า 3.5 แสนราย) ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงินเฉียบพลัน)
ล่าสุด ศาลล้มละลายกลาง ออกประกาศ (ฉบับที่ 6) คดีหมายเลขดำที่ ฟฟ9/2565 บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด(มหาชน) ลูกหนี้/ผู้ร้องขอ โดยมีใจความสาระสำคัญว่า “ในวันนี้เวลา 10.00 นาฬิกา ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด(มหาชน) มีเจ้าหนี้ผู้คัดค้านมาฟังคำสั่งศาลประมาณ 25 ราย โดยศาลมีคำสั่งสรุปสาระสำคัญว่า ทางไต่สวนได้ความจริงว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเป็นหนี้เจ้าหนี้หลายคนรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท กิจการของลูกหนี้ยังมีรายได้
กรณียังมีช่องทางและมีเหตุอันสมควร และลูกหนี้ยืนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยสุจริต ทั้งไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ทำแผน จึงมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด(มหาชน) ลูกหนี้และตั้งบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด(มหาชน)ลูกหนี้ เป็นผู้ทำแผน
อนึ่ง เจ้าหนี้ซึ่งมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที๋ศาลมีคำสั่ง ให้ฟื้นฟูกิจการ ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ประกาศคำสั่งลงในราชกิจจานุเบกษา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งกำหนดลงประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 20 ธันวาคม 2565 โดยมีช่องทางในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังนี้
1.ยื่นคำขอรับชำระหนี้ออนไลน์ทางเว็บไซด์กรมบังคับคดี www.led.go.th
2.ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี หรือสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ
3.ยื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่านบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด(มหาชน) สำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานสาขาทั่วประเทศ
ทั้งนี้ขอให้เจ้าหนี้ติดตามความคืบหน้าของคดีและรายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติมได้จากเว็บไซด์ กรมบังคับคดี www.led.go.th ต่อไป
ย้อนหลัง…คำแถลงการณ์การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ซึ่งกำหนดรายละเอียดในกรณีการขออนุญาตยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้พิจารณาข้อดี ข้อเสีย และความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป เพื่อดูแลผู้เอาประกันภัยและคู่ค้าอย่างเต็มความสามารถ
บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ต่อสำนักงาน คปภ. ในวันที่ 25 เมษายน 2565 ต่อมา ภายหลังจากที่สำนักงาน คปภ. ได้พิจารณาคำขอดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน คปภ. จึงได้ยินยอมให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลได้ โดยบริษัทฯ ต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565
เหตุและความจำเป็นในการยื่นฟื้นฟูกิจการ
ในปี 2564 บริษัทฯ ได้รับประกันภัย Covid -19 แบบเจอจ่ายจบ และแบบ 2 in 1 รวมประมาณ 2 ล้านกรมธรรม์ โดยมีเบี้ยรับจากประกันภัยรวมจำนวน 661 ล้านบาท ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการดูแลผู้เอาประกันและจ่ายสินไหมโควิดให้กับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อ Covid-19 ไปแล้วเป็นเงินจำนวน 11,875 ล้านบาท โดยนำเงินจากกำไรสะสมทั้งหมดมาจ่ายชำระสินไหม Covid-19 อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของ Covid -19 ในวงกว้างและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว แต่อาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา
มีจำนวนผู้เอาประกันมายื่นเคลมสินไหมโควิดเป็นจำนวนมาก ทำให้มีจำนวนเคลมสินไหม Covid-19 คงค้างอีกประมาณ 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 30,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมสินไหม Covid-19 ที่จ่ายไปแล้วทั้งหมดจะเท่ากับ 41,875 ล้านบาท คิดเป็นการจ่ายสินไหมที่สูงถึง 63 เท่าของเบี้ยประกันภัยรับ หรือ 6,300% และสูงกว่าการจ่ายสินไหมประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Covid-19 ถึงเกือบ 100 เท่า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขภาระค่าสินไหม Covid-19 ที่มีจำนวนมาก โดยการสรรหานักลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถทางการเงินในการชำระค่าสินไหม Covid-19 ซึ่งแม้ว่าจะมีนักลงทุนให้ความสนใจในธุรกิจหลักของบริษัทฯ เนื่องจากมีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องมาโดยตลอดก็ตาม แต่สินไหม Covid-19 ที่ปัจจุบันสูงกว่า 41,875 ล้านบาท เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจลงทุน
บริษัทฯ มุ่งมั่นและพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โดยกระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงทางออกเดียวที่เหมาะสมที่สุดที่จะแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ได้ และจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หากบริษัทฯ ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันภัย และถูกปิดกิจการในท้ายที่สุด ส่งผลให้สินไหม Covid-19 หลายหมื่นล้านบาท ต้องตกเป็นภาระแก่กองทุนประกันวินาศภัย อันจะเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์ทางการเงินของกองทุนประกันวินาศภัยวิกฤตยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากในช่วงระยะเวลาหกเดือนที่ผ่านมา
กองทุนประกันวินาศภัยได้รับภาระให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ของบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไปแล้วถึง 4 ราย ทำให้มีแนวโน้มสูงที่กองทุนประกันวินาศภัยจะขาดสภาพคล่องจนไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าสินไหมแทนบริษัทประกันวินาศภัยที่ต้องปิดกิจการซึ่ง ณ ปัจจุบันมียอดหนี้สูงกว่าสองหมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ผู้เอาประกันของบริษัทฯ จำนวนกว่า 2.5 ล้านฉบับ จะได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของบริษัทฯ รวมถึงพนักงานเกือบ 2,000 คน และคู่ค้าต่างๆ จะไม่ได้รับชำระหนี้และสูญเสียรายได้ ทางบริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 เพื่อให้บริษัทฯ ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างต่อเนื่องและปรับโครงสร้างการชำระหนี้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและแก้ไขฐานะการเงิน ทั้งนี้ ความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ในครั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการให้ความร่วมมือของทุกฝ่าย
ทั้งนี้ จากนี้ไปต้องตามกันต่อว่า ทางบมจ.สินมั่นคงจะมีกระบวนการฟื้นฟูกิจการอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ร้องเรียนที่มีกว่า 3.5 แสนราย และการสร้างความมั่นใจต่อผู้เอาประกันภัยประเภทอื่นๆ เช่น ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย เป็นต้น