3 ตุลาคม 2565 : ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการการเตรียมความพร้อมสู่วัยทำงานด้วยการประกันภัย OIC Be Smart First Jobber โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัยให้กับกลุ่มนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ได้มองเห็นภาพที่ชัดเจนของระบบการประกันภัยที่สามารถใช้บริหารจัดการความเสี่ยงได้จริง และนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือการเปลี่ยนแปลงในระดับพฤติกรรม เพื่อให้การประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในการบริหารความเสี่ยงอย่างแท้จริง โดยมีอาจารย์และนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ได้จัดกิจกรรมโครงการการเตรียมความพร้อมสู่วัยทำงานด้วยการประกันภัย OIC Be Smart First Jobber โดยเริ่มนำร่องในปีนี้เป็นปีแรก ณ สถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวม 4 แห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในวันที่ 30 กันยายน 2565 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และสิ้นสุดโครงการในปีนี้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 26 ตุลาคม 2565
การออกแบบกิจกรรมสำหรับนิสิตนักศึกษา นับเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายที่สุดของสำนักงาน คปภ. เพราะจำเป็นต้องมีรูปแบบหลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจของนิสิตนักศึกษาที่อยู่ในกลุ่ม Gen Z ซึ่งเติบโตในยุคที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media) และอินเทอร์เน็ตได้อย่างแพร่หลาย ดังนั้นในแต่ละกิจกรรมจึงต้องเลือกกลยุทธ์การดำเนินการที่สอดคล้องและตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ใน 4 ประเด็น ได้แก่ Be Direct and Keep it H.O.T , Be Brave, Be Inclusive และ Co Create ดังนี้
ประเด็นแรก กิจกรรมการให้ความรู้ด้านการประกันภัยเพื่อบอกเล่าความสำคัญของการประกันกันภัย
ในรูปแบบ 24/7 หรือ 24 ชั่วโมงต่อวัน และ 7 วันต่อสัปดาห์ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของน้อง ๆ นิสิตนักศึกษา ทั้งการประกันชีวิต การประกันภัยรถยนต์ การประกันภัยที่อยู่อาศัย การประกันภัยการเดินทาง การประกันภัยสุขภาพ การประกันภัย ที่เชื่อมโยงกับการลงทุนและการวางแผนภาษี ผ่านประสบการณ์ตรงของ คุณจิตนเร บุญแสงวัฒน์หรือเชฟธันวา ผู้เข้าแข่งขันจากรายการมาสเตอร์เชฟประเทศไทย ซีซั่นที่ 4 และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเน้นรูปแบบการนำเสนอที่เรียกว่า Be Direct and Keep it H.O.T หรือการให้ความรู้อย่างจริงใจเข้าใจง่าย เปิดกว้าง และโปร่งใส ตรงไปตรงมา
ประเด็นที่สอง กิจกรรมการให้ความรู้ในด้านเส้นทางสายอาชีพประกันภัย
นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ อาจจดจำภาพของอาชีพในธุรกิจประกันภัยจำกัดเฉพาะการขายประกันภัย หรือตัวแทนและนายหน้าประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ. อยากสร้างความเข้าใจในแง่มุมใหม่ๆ คือ การสื่อสารเพื่อให้เห็นว่า ธุรกิจประกันภัยเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นโอกาสสำหรับนิสิตนักศึกษา ทั้งในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น คณิตศาสตร์ประกันภัยและสถิติ ไปจนถึงสาขาวิชาอื่นๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยมีความต้องการ เช่น วิศวกรรมข้อมูล กฎหมาย การเงิน นิเทศศาสตร์และการประชาสัมพันธ์ หรือการแพทย์ (เพื่อออกแบบกรมธรรม์) เป็นต้น
ตลาดแรงงานในภาคการประกันภัยมีรูปแบบงาน รวมถึงมีความน่าสนใจและมีเสน่ห์ไม่ต่างจากภาคการเงิน ภาคพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) และวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) อื่น ๆ เพราะธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่ปรับตัวและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินงาน ทั้งในด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และ Internet of Things หรือ IoT และหากภาคการเงินมี FinTech ในภาคธุรกิจประกันภัยก็มี InsurTech และมีสนามทดลองหรือ sandbox ไม่แตกต่างกัน
ประเด็นที่สาม กิจกรรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการหรือ Workshop
โดยได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหารอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัษฎางค์ พลนอก ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เสมือนจริง โดยการใช้เกมจำลองรูปแบบสถานการณ์ที่ระบบประกันภัยเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งในระดับบุคคลและระดับหน่วยธุรกิจ รวมทั้งมีการถอดบทเรียนจากพฤติกรรมและการตัดสินใจ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในมหาวิทยาลัยและผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์สามารถร่วมกิจกรรมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ Be Inclusive ที่มุ่งเน้นการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ทุกช่องทาง สามารถทดลองฝึกปฏิบัติจริงและมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง
ประเด็นที่สี่ การต่อยอดเพิ่มเติมจากการจัดกิจกรรมในสถานศึกษาทั้ง 4 ครั้ง
สำนักงาน คปภ. ได้จัดให้มีการประกวดนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงระบบการประกันภัย โดยเปิดกว้างให้นิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบันสามารถ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในรูปแบบนวัตกรรมเชิงความคิดหรือ conceptual idea โดยจัดส่งเป็นคลิปผลงานความยาวไม่เกิน 2 นาที และสำนักงาน คปภ. ร่วมกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดจำนวน 10 ผลงาน เพื่อให้มานำเสนอรายละเอียดในรอบชิงชนะเลิศหรือ final pitching ในเดือนพฤศจิกายน
โดยมีเงินรางวัลสำหรับผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ และรางวัลชมเชย รวมจำนวน 70,000 บาท พร้อมโล่รางวัล สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนอกจากจะได้รับเงินรางวัลและโล่รางวัลแล้วยังจะได้รับสิทธิพิเศษในการเยี่ยมชมห้องทำงานของเลขาธิการ คปภ. โดยเลขาธิการ คปภ. จะพาทัวร์ทั้งห้องทำงาน และสำนักงาน คปภ. ด้วยตนเอง พร้อมร่วมรับประทานอาหารเมนูสุดเอ็กซ์คลูซีฟจากเชฟธันวาซึ่งจะรังสรรค์เมนูโดยเฉพาะสำหรับมื้อพิเศษนี้
“การดำเนินกิจกรรมตามโครงการ OIC Be Smart First Jobber ในครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. เชื่อว่าจะช่วยเข้าถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่ม Gen Z และมีจำนวนมากถึง 1.4 ล้านคน โดยจะเป็นโมเดลต้นแบบของการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ดีไซน์โดยเฉพาะให้เหมาะสมสำหรับกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ เพื่อช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยที่เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในทุก ๆ ช่วงเวลาของชีวิต ตลอดจนเข้าใจบทบาทภารกิจของสำนักงาน คปภ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลระบบประกันภัยและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย