28 กันยายน 2565 : นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า แม้ว่าปัจจุบันดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) จะปรับลงมาอยู่ในระดับ 3,655 จุด ใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดในเดือนมิถุนายน แต่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) มองว่า มีโอกาสที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับตัวลงต่อได้อีก เพราะมีปัจจัยลบรออยู่อีก 3 ประการ ได้แก่
ปัจจัยแรก ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 Fed มีกำหนดปรับเพิ่มเพดานสูงสุดของการลดขนาดงบดุลเป็นเดือนละ 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่ปรับลดเดือนละ 47,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้งบดุลของ Fed ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะลดลงรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.1 - 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอดีตที่ Fed เดินหน้า QE จะทำให้ Forward P/E ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับลงตาม โดยในการเดินหน้า QT รอบนี้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ประเมินว่า จะส่งผลให้ในช่วงปี 2566 Bond Yield สหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้น 20 – 80 bps ซึ่งจะส่งผลกดดันให้ค่า Forward P/E ที่เหมาะสมของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลงจากปัจจุบันประมาณ 5 - 10%
ปัจจัยที่สอง ด้านอัตราเงินเฟ้อ แม้ TISCO ESU คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาวยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะสามารถลดลงเข้าสู่ระดับ 2% ตามเป้าหมายเงินเฟ้อของ Fed ได้หรือไม่ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันการกระจายตัวในหลายกลุ่มสินค้า และมีกระแสการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานที่อาจทำให้ในระยะยาวเงินจะเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูง เช่น กระแสนโยบายการคลังซึ่งเอนเอียงไปทางประชานิยม (Populism) มากขึ้น และทิศทางนโยบายที่เน้นการลงทุนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านการทหาร อาหาร พลังงาน และเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งจีน-ไต้หวัน
ทั้งนี้ หากในระยะยาวเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับเกินกว่า 3% จะทำให้ Fed จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกดดันต่อค่า P/E ของตลาดหุ้นให้ลดลง โดยในช่วง 5 ย้อนหลัง ดัชนี S&P 500 ซื้อขายที่ระดับ P/E เฉลี่ย 18 เท่า ซึ่ง TISCO ESU มองว่า จากปัจจัยข้างต้นจะทำให้ในรอบนี้ P/E ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะลงมาซื้อขายที่ระดับประมาณ 14 เท่า โดยระดับดังกล่าวเป็นระดับที่เทียบเคียงมาจากช่วงปี 2546 – 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและเป็นปัจจัยหนุนให้เงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูงเหมือนในปัจจุบัน
ปัจจัยที่สาม จากการรวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์โดย Bloomberg พบว่า นักวิเคราะห์เริ่มปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนใน S&P 500 ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า (Forward EPS) โดยได้ปรับลดกำไรบริษัทจดทะเบียนลงแล้ว 1% เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายนโดยมีเพียงหุ้นกลุ่มพลังงาน (Energy) ที่ยังถูกปรับขึ้นเป็นอย่างมากถึง 9% ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูง อย่างไรก็ตาม TISCO ESU คาดว่า ในอนาคตมีโอกาสที่นักวิเคราะห์จะปรับลดกำไรบริษัทจดทะเบียนลงอีก ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันในเดือนที่ผ่านมาเริ่มปรับลดลงแรง
ในขณะที่ตลาดหุ้นยังมีความผันผวนสูงและมีปัจจัยกดดันอยู่หลายประการ ตลาดตราสารหนี้เริ่มกลับมาให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ โดยผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) อายุ 2 ปี ของสหรัฐฯ ได้พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 4.3% สูงสุดตั้งแต่ปี 2550 ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี สหรัฐฯ ก็พุ่งขึ้นมาแตะระดับ 4% ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า Bond yield สหรัฐฯ ที่ระดับ 4% ได้สะท้อนความเสี่ยงจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปมากแล้ว และประเมินว่า Bond yield จะกลับมาลดลงในปีหน้าตามการทยอยลดลงของอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้จึงแนะนำให้นักลงทุนทยอยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงเช่นในปัจจุบัน