WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ttb analytics ประเมินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนโตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจ EEC ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

22 กันยายน 2565 : ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนปี 2565 เติบโต 15% ดันรายได้ 3.2 แสนล้านบาท โดยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ คาดการลงทุนเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) จะช่วยสร้างดีมานด์ความต้องการรักษาเพิ่มขึ้น ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่ฟื้นกลับมาได้เร็วหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2562 ภาครัฐมีการประกาศล็อกดาวน์ประเทศ โดยจำกัดการเดินทางและการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศรวมถึงไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพื่อป้องกันการระบาดในวงกว้าง ส่งผลกระทบทำให้คนไทยและชาวต่างชาติไม่สามารถเข้าทำการรักษาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนได้ ทำให้รายได้ในปี 2563 ลดลงกว่า 14.3% อย่างไรก็ดี เมื่อการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศภาครัฐจึงผ่อนคลายมาตรการจำกัดดังกล่าว

รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนได้รับผลดีจากการเข้ารักษาของผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้รายได้พลิกฟื้นกลับมาขยายตัว 28.2% ในปี 2564 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยฟื้นตัวในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งจ้างงานที่สำคัญ แม้ว่าผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรก ทำให้รายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนหดตัวลงอย่างมากในปี 2563 แต่ในปี 2564 ก็ฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับปกติได้ และเมื่อพิจารณาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) จะพบว่ารายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเติบโตเฉลี่ยกว่า 7.7% ต่อปี แม้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 แต่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเจาะลึกการฟื้นตัวเป็นรายภูมิภาคจะพบว่า กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคตะวันออก ซึ่งมีสัดส่วนรายได้รวมกว่า 80% ของรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรวมเป็นภูมิภาคที่ฟื้นได้ดีหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากเป็นแหล่งจ้างงานของประเทศ โดยในปี 2564 กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก ขยายตัว 29.0% และ 24.7% จากปี 2563 ที่หดตัว 16.3% และ 9.3% ในขณะที่ ภาคกลางและภาคใต้ มีสัดส่วนรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรวมกัน 8.5% ของรายได้รวม ซึ่งมีอัตราของการฟื้นตัวเช่นกัน

โดยในปี 2564 รายได้ในภาคใต้และภาคกลางขยายตัว 35.7% และ 30.0% จากปี 2563 ที่หดตัว 7.6% และ 2.7% ด้านภาคอีสานและภาคเหนือแม้ว่าจะเป็นภูมิภาคที่ประชากรส่วนใหญ่กว่า 80% ของประชากรในพื้นที่ใช้บริการรักษาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐเป็นหลัก แต่พบว่ารายได้ของโรงพยาบาลเอกชนก็ฟื้นตัวไม่ต่างกัน โดยในปี 2564 ภาคอีสาน และภาคเหนือ ขยายตัว 26.8% และ 18.8% จากปี 2563 ที่หดตัว 12.8% และ 8.0% จะเห็นว่ารายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้ฟื้นกลับมาในทุกภูมิภาคของประเทศ

ตลาดคนไทย คาดว่าจะเติบโตได้ดีจากการไม่มีข้อจำกัดในการเดินทางของประชาชนรวมทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ สามารถดำเนินธุรกิจได้และแรงงานสามารถออกมาทำงานนอกบ้านได้ ทำให้เศรษฐกิจในประเทศทยอยฟื้นตัว ประชาชนที่เจ็บป่วยสามารถออกมาใช้บริการทางการแพทย์ได้ตามปกติ นอกจากนี้ ในตลาดคนไทย โรงพยาบาลเอกชนยังมีรายได้เพิ่มเติมจากการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ ตลาดชาวต่างชาติ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) หดตัวค่อนข้างรุนแรงจากการไม่อนุญาตให้นักชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศ แต่นับตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา

ภาครัฐผ่อนคลายเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักรได้ทำให้ดีมานด์ชาวต่างชาติที่ต้องการรักษาพยาบาลในไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง นอกจากนี้ จากการที่ธุรกิจในประเทศสามารถดำเนินกิจการได้ ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายที่ทำประกันตนกับประกันสังคมจำนวนกว่า 9.6 แสนคน (คิดเป็น 40% ของแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายรวม) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออกได้ออกมาใช้บริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชน ทำให้รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนในตลาดชาวต่างชาติภาพรวมฟื้นตัวขึ้น

ttb analytics ประเมินว่าสถานการณ์การเปิดประเทศและการดำเนินธุรกิจในประเทศที่เป็นปกติ จะสร้างแรงส่งให้ตลาดชาวไทยและชาวต่างชาติเติบโตต่อไป โดยคาดว่ารายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนภาพรวมจะเติบโตได้ 8-10% ในปี 2566 ปี 2566 ประเด็นที่ต้องติดตาม ปัจจัยเสี่ยง คือ เงินเฟ้อ ปัจจัยเสริม คือ เงินบาทอ่อนค่า แม้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะฟื้นตัวแล้ว แต่ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านต้นทุนพลังงานและอาหาร

โดย ttb analytics คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2565 จะปรับเพิ่มขึ้นกว่า 6.7% และในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 2.1% อันเป็นผลจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อของตลาดคนไทยและแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศ นับเป็นปัจจัยลบของธุรกิจในปี 2566 ในขณะที่ปัจจัยบวกของธุรกิจในปี 2566 ได้แก่ แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า อันเนื่องมาจากทิศทางนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(FED) ทำให้เงินไหลกลับไปหาสกลุเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

หากค่าเงินบาทของไทยเปรียบเทียบกับประเทศที่ชาวต่างชาติอาศัยอยู่มีทิศทางอ่อนค่ามากกว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลและท่องเที่ยวในประเทศซึ่งเป็นโอกาสของตลาดชาวต่างชาติที่จะเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์มากขึ้นttb analytics แนะธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนพุ่งเป้าไปที่ตลาดในประเทศกลุ่มผู้มีประกันสังคม กลุ่มผู้ทำประกันสุขภาพ ในพื้นที่ EEC และตลาดต่างประเทศกลุ่ม Medical Tourism

จากข้อมูลสถิติโครงสร้างการใช้สวัสดิการทางการแพทย์ของคนไทยพบว่าในช่วงกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา (2554-2564) แนวโน้มคนไทยใช้บริการการแพทย์ด้วยการใช้สวัสดิการประกันสังคมและทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 สัดส่วนการใช้สวัสดิการประกันสังคมและทำประกันสุขภาพรวมกันมากถึง 24.5% ของการใช้สวัสดิการทางการแพทย์รวม โดยเพิ่มขึ้นจาก 15.7% ในปี 2554 ชี้ถึงดีมานด์ความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่มากขึ้นจากแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 11 ล้านคน และประชาชนที่ยินดีจ่ายประกันสุขภาพเพื่อความคุ้มครองจากการเจ็บป่วย

ทั้งนี้ ttb analytics ประเมินแนวโน้มพื้นที่ EEC ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา จะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในอนาคตสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากเป็นฐานรองรับเป้าหมายอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ที่สำคัญของประเทศ โดยในปี 2564 ในพื้นที่ EEC มีประชากรไทยรวมจำนวน 3,059,193 คน แรงงานไทย (มาตรา 33) จำนวน 1,478,343 คน และแรงงานต่างด้าวจำนวน 244,007 คน และในปี 2565 คาดว่าจะมีแรงงานรองรับอุตสาหกรรม New S-Curve เพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีกกว่า 3 แสนคน นับเป็นโอกาสของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสำหรับตลาดในประเทศ

ด้านตลาดต่างประเทศ ประเมินว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ โดยคาดว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวมกว่า 9.5 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากชาวเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง และปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจำนวน 15-20 ล้านคน ซึ่งก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นฐานรายได้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย (Medical Tourism) ถือเป็นโจทย์ท้าทายที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนจะร่วมมือกันในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเหล่านั้นให้กลับมาเที่ยวในเมืองไทยและใช้บริการทางการแพทย์ดังเดิมเพื่อดันรายได้จากชาวต่างชาติให้กลับคืนมา 

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP