WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
จับตา! สกุลเงินดิจิทัล CBDC

5 กันยายน 2565 : ช่วงสัปดาที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ตอกย้ำถึงความสำเร็จในการเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าร่วมทดสอบการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล สำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail CBDC) เพื่อใช้งานจริงในวงจำกัดช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงกลางปีหน้าของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งการประกาศดังกล่าว ทำให้เรื่องของ “สกุลเงินดิจิทัล”กลับมาพูดถึงกันอีกครั้ง

ปกติแล้วมุมมองของคนทั่วไปอาจจะคุ้นเคยกับเงินสดที่สามารถจับต้องได้ ทั้งรูปแบบธนบัตรและเหรียญ แต่พอมีเทคโนยีที่ล้ำๆ เข้ามาสู่ธุรกิจการเงิน ทำให้เราจับต้องเงินสดในรูปแบบเดิมๆ ทยอยลดลงที่ละน้อยที่ละน้อย โดยผ่าน  Mobile payment  ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จของภาครัฐที่พยายามขับเคลื่อนอย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จ และยอมรับว่าโควิดถือเป็นตัวช่วยหลักในการผลักดันความสำเร็จนี้

แต่ความสะดวกสบายของสังคมไร้เงินสดก็ยังไม่เต็มร้อยสักทีเดียว เพราะหลายคนยังต้องการจับต้องเงินสดอยู่ และมีประชนชนบางกลุ่มไม่พร้อมใช้ระบบดังดกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากมากๆ ที่มีโอกาสเข้าถึงสังคมไร้เงินสดน้อยมาก เพราะไม่สามารถแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ต เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ 

อย่างไรก็ตาม สังคมไร้เงินสดแบบ 100% ก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินจริงแต่อย่างไร และ "สกุลเงินดิจิทัล" จะเข้ามามีบทบาทในอนาคตมากขึ้นแน่นอน ด้วยโลกการเงินดิจิทัล คริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) หรือที่รู้จักในชื่อว่าสกุลเงินดิจิทัล ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่าจะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่จะมาทดแทนการใช้เงินสด หรือแม้แต่เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันได้ และด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ที่อยู่เบื้องหลังอย่างบล็อกเชน (blockchain) ที่มีความปลอดภัยและสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งาน

ขณะที่เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดบทบาทตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ธนาคารกลางทั่วโลกจึงหันมาศึกษาความเป็นไปได้ในการนำบล็อกเชนมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน และการออกใช้ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่จะเป็นตัวแทนของเงินได้จริงๆ

โดย นางสาววชิรา อารมณ์ดี  ผู้ช่วยว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การพัฒนาเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และต้องพิจารณาให้รอบด้าน ซึ่งยากที่จะสามารถตอบได้ว่าเมื่อใดเราจะมี CBDC ใช้ เพราะความพร้อมอาจไม่ขึ้นอยู่กับ ธปท. เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องไปทั้งองคาพยพ ในด้านความพร้อมของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงมาตรการความปลอดภัยต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง

พร้อมกับย้ำถึงความจำเป็นว่า ธปท. ยังเห็นความจำเป็นที่จะขยายขอบเขตการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC ไปสู่การใช้งานจริงในวงจำกัด (Pilot) ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินถึงประโยชน์และความเสี่ยง รวมทั้งกำหนดนโยบายและปรับปรุงการออกแบบ CBDC ในอนาคต โดยแผนการทดสอบ Retail CBDC ระยะ pilot นี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

1. การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation track) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย โดยจะทดสอบการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะ และในกลุ่มผู้ใช้งานประมาณ 10,000 ราย ที่กำหนดโดย ธปท. และภาคเอกชนที่ร่วมทดสอบ 3 ราย 3 ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการทดสอบนี้จะนำเทคโนโลยีของบริษัท Giesecke+Devrient4 มาประยุกต์ใช้ โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566

2. การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) ด้านความสามารถในการเขียนโปรแกรม (Programmability) ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดบน Retail CBDC ทำให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่หลากหลาย และช่วยให้ ธปท. นำมาปรับปรุงการออกแบบ CBDC ที่เหมาะสมกับบริบทของไทยในอนาคต

ทั้งนี้ ธปท. จะเปิดให้ภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมนำเสนอรูปแบบทางธุรกิจ (Use cases) ในการพัฒนาต่อยอด Retail CBDC ผ่านโครงการ "CBDC Hackathon" ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม - 12 กันยายน 2565 นี้ โดยทีมหรือผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบ จะได้รับคำปรึกษา (Mentoring) จากสถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในโครงการอินทนนท์ 5

ธปท. ขอย้ำว่าการทดสอบ Retail CBDC นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC เพื่อประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีและการออกแบบ รวมถึงการนำไปต่อยอดบริการให้กับประชาชน โดย ธปท. ยังไม่มีแผนที่จะออก Retail CBDC เนื่องจากการออก CBDC ต้องพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงอย่างรอบด้านก่อน เพราะอาจส่งผลต่อระบบการเงินของประเทศได้ นอกจากนี้ ธปท. ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการแอบอ้างในรูปแบบต่าง ๆ ว่าสามารถให้บริการ Retail CBDC ได้ หรือหลอกให้ลงทุนใน Retail CBDC ของ ธปท. เนื่องจากการทดสอบนี้ จะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ใช้งานที่ถูกระบุไว้ก่อนแล้วเท่านั้น 

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP