16 พฤศจิกายน 2559 : นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบเรื่องร่างแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560 – 2564 สานต่อการดำเนินการตามแผนแม่บทการเงินระดับฐานรากที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2551 – 2554 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น โดยแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560 – 2564 ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ 6 กลยุทธ์ และ 16 มาตรการ สรุปได้ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างรายได้และพัฒนาศักยภาพด้านการเงินของประชาชนระดับฐานราก ประกอบด้วย กลยุทธ์ด้านการเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนระดับฐานราก และการลดภาระหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยมีมาตรการต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย การส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน การสร้างทักษะให้ประชาชนมีความสามารถในการบริหารจัดการทางการเงิน เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ประกอบด้วย กลยุทธ์ด้านการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรการเงินชุมชนให้สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างยั่งยืน และการสนับสนุนให้สถาบันการเงินในระบบขยายบทบาทเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น โดยมีมาตรการต่าง ๆ เช่น การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรการเงินชุมชน การส่งเสริมให้สถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้บริการทางการเงินในระดับฐานรากมากขึ้น เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial Infrastructure) ให้เหมาะสมต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย กลยุทธ์ด้านการพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงินภาคประชาชน โดยมีมาตรการต่างๆ เช่น การพัฒนากฎหมาย กฎระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การศึกษาและยกร่างกฎหมายใหม่ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน การจัดตั้งกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายระบบการเงินภาคประชาชน การจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูล เป็นต้น