WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ซีพี ออลล์-PIM-ออลล์ เวลเนส เปิดเบื้องหลัง 5 แนวคิด “หุ่นยนต์ส่งของสุดคิ้วท์”

22 สิงหาคม 2565 : นายชูศักดิ์ ทวีกิติกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ออลล์ เวลเนส จำกัด ธุรกิจในกลุ่มบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า การพัฒนา Outdoor Delivery Robot หรือหุ่นยนต์ส่งของสุดคิ้วท์ ของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่เป็นกระแสในโลกออนไลน์ในช่วงก่อนหน้านี้นั้น กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาในเฟสที่ 2 โดยแนวคิดที่ทางเครือมุ่งเดินหน้าพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าวนั้น มีเบื้องหลังทั้งหมด 5 เรื่องด้วยกัน

1.สร้างขนส่งพลังงานสะอาด (Green Energy Delivery) นำหุ่นยนต์ซึ่งใช้พลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้า 100% เข้ามาช่วยให้เกิดการขนส่งที่ไม่ก่อมลภาวะ ไม่ส่งเสียงดัง 2.เพิ่มตัวช่วยด้านการขนส่งให้แก่พนักงาน (Delivery Assistant) ใช้เทคโนโลยีระบบนำทางอัตโนมัติ AI ไร้คนขับเข้ามาแบ่งเบาภาระการทำงานของพนักงานหน้าร้าน ในช่วงที่มีปริมาณการสั่งสินค้าเข้ามาพร้อมกันจำนวนมาก รวมถึงช่วยการขนส่งในเวลากลางคืน ตอบโจทย์การเป็นร้านที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

3.เพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคและพนักงาน (Safety Delivery) ลดความกังวลเรื่อง COVID-19 ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ 4.มอบโอกาส Tech Talent สร้างงานที่ท้าทายให้แก่เหล่า Tech Talent รุ่นใหม่ ได้ลงมือปฏิบัติจริงเกี่ยวกับงานด้าน AI และ Robotics สร้างโอกาสพัฒนาคน และดึงดูดให้บุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีมาร่วมงานกับองค์กรมากขึ้น 5.ปั้นธุรกิจ New S-Curve สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์โลกอนาคต โดยมองโอกาสการนำ OutdoorDelivery Robot เข้าไปช่วยตอบโจทย์การส่งของให้แก่บริษัทหรือร้านค้าอื่นๆ ใกล้ 7-Eleven ไปยังผู้บริโภคด้วย

“ที่ผ่านมา หุ่นยนต์มีบทบาทพลิกโฉมโลกไปพอสมควร แต่คนทั่วไปอาจยังมองไม่เห็น เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์สร้างรถ ช่วยประกอบรถให้เสร็จภายในไม่กี่นาที หุ่นยนต์ภาคการเกษตร ช่วยรดน้ำ ให้ปุ๋ย แต่หลังจากนี้หุ่นยนต์จะยิ่งมีบทบาทใกล้ชิดชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น เราได้เห็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตามบ้าน กลายเป็นสินค้าขายดีระดับท็อป เราเริ่มเห็นหุ่นยนต์ Indoor Delivery Robot ตามร้านอาหาร ต่อไป เราอยากให้ Outdoor Delivery Robot ของเซเว่น อีเลฟเว่น ไปส่งของตามบ้านใกล้ชิดผู้คนด้วยเช่นกัน และเราเชื่อว่าอนาคต จะมีหุ่นยนต์ที่เข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ เพื่อตอบโจทย์การเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยอีกด้วย” นายชูศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่าหุ่นยนต์จะไม่เข้ามาแย่งงานของคน แต่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยงานของคน โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และมีประชากรวัยแรงงานลดลง ลดภาระการทำงานที่ต้องทำซ้ำๆ เป็นประจำ (Routine Tasks) เพื่อให้มนุษย์สามารถนำเวลาไปทำงานที่ยาก มีความจำเป็นต่อความอยู่รอด และมีความซับซ้อนมาก เช่น ปัญหาโลกร้อน มลพิษและขยะ ภาวะขาดแคลนอาหาร การดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ เชื้อโรคต่างๆ ที่รุนแรงและกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว เป็นต้น

โดยเครือซีพี ออลล์ จะมุ่งช่วยพัฒนาทักษะด้าน AI Robotics และCoding ให้แก่เยาวชน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น (4-15 ปี) ผ่านสถาบัน RobotLAB Thailand ซึ่งเป็นความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เทคโนโลยีหุ่นยนต์สำหรับภาคการศึกษาระหว่างออลล์ เวลเนสและ RobotLAB สหรัฐอเมริกา ณ อาคาร SIAMSCAPE ชั้น 9โดยได้เริ่มดำเนินการสอนตั้งแต่ปี 2565 และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย-ปวช. (15-18 ปี) ผ่านการจัดค่าย Creative AI Camp และสำหรับระดับมหาวิทยาลัยผ่านคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)

พร้อมทั้งจับมือเป็นพันธมิตรกับโรงเรียนต่างๆ ช่วยพัฒนาศักยภาพครูและมอบอุปกรณ์การเรียนการสอนที่จำเป็น เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยสู่การเป็น Tech Talent ที่มีทักษะแห่งอนาคต และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย นอกจากนี้ บริษัทจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในโลกแห่งอนาคต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ New S-Curve ผลักดันรายได้กลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจค้าปลีก (Non-retail)

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร ทัศนวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี PIM กล่าวว่า ที่ผ่านมา การพัฒนาหุ่นยนต์ในไทยยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม Indoor Delivery Robot หรือหุ่นยนต์สำหรับใช้ส่งของภายในอาคารเท่านั้น การพัฒนา Outdoor Delivery Robot ถือเป็นเรื่องท้าทายและเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย การทำงานของทีม PIM ทั้ง 7 คน ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์ ศิษย์เก่า และนักศึกษาปัจจุบัน จึงถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่โครงสร้างหุ่นยนต์ ตลอดจนการออกแบบรูปลักษณ์และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ อาทิ 3D-Lidar มาร่วมใช้กับหุ่นยนต์ Outdoor Delivery Robotและทดลองใช้ในประเทศไทยครั้งแรก

“จุดยืนของ PIM มุ่งเน้นการเรียนการสอนแบบ Work-based Education ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานจริง เรียนเป็น คิดเป็น ทำงานเป็น สร้างนวัตกรรม งานวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่ง Outdoor Delivery Robot นับเป็นอีกงานวิจัยหนึ่งที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการทำงานจริง สร้างสรรค์งานที่คำนึงถึงความใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อโลก ในขณะเดียวก็ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร กล่าว

สำหรับการพัฒนาในเฟสแรก ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จนหุ่นยนต์มีรูปลักษณ์และดีไซน์ดังกล่าว สามารถรับส่งของได้ครั้งละ 2 ออเดอร์ โดยทดลองวิ่งจริงในพื้นที่เฉพาะสำหรับการทดสอบหรือSandbox บริเวณพื้นที่อาคารของ PIM และพื้นที่ธารา พาร์ค เพื่อให้แน่ใจว่าการวิ่งส่งของแต่ละครั้งมีความแม่นยำ บนถนนและสิ่งกีดขวางหลากหลายรูปแบบ ขณะที่การพัฒนาในเฟสถัดไป จะพิจารณาการออกแบบหุ่นยนต์ให้มีหลายขนาดมากขึ้น พร้อมตอบโจทย์การรับ-ส่งสินค้าให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่

ด้านนายธิติวุฒิ พิมพิสัย หรือ เบส เจ้าหน้าที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี PIM กล่าวว่า สมัยเป็นนักศึกษามีโอกาสได้ร่วมพัฒนาหอพักผู้ป่วยอัจฉริยะ (Smart Ward) เพื่อใช้ในโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์โดยมีหุ่นยนต์เป็นส่วนประกอบร่วมกับระบบอัตโนมัติต่างๆ เพื่อส่งอาหารและยาให้ถึงเตียงผู้ป่วย ลดการสัมผัสในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19

ทางทีมจึงได้นำประสบการณ์ดังกล่าว มาต่อยอดสู่การพัฒนา Outdoor Delivery Robot ครั้งแรก แบ่งงานกันทั้งด้านกลไก ออกแบบเพื่อให้หุ่นยนต์วิ่งได้บนทุกสภาพพื้นถนน ด้านเทคนิค เช่น การสร้างแผนที่โดยใช้ 3D -Lidar เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีเซ็นเซอร์หมุนรอบตัวเอง 360 องศา ตลอดจนด้านโปรแกรม และด้านการออกแบบ เพื่อให้หุ่นยนต์ที่ตอบโจทย์มาเป็นมิตรกับผู้ใช้ (User-friendly)

ธุรกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP